HoonSmart.com>> “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต “ดีแทค” เป็น “ลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” ยังคงอันดับระดับ ‘AA(tha)’ สะท้อน “อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสด” จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2.3 เท่า จากครึ่งปีแรก หากยังจ่ายปันผลระดับสูง แนวโน้มรายได้อยู่ระดับต่ำ
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย เป็นลบจากมีเสถียรภาพ และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA(tha)’ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของ DTAC ที่ ‘F1+(tha)’
การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ DTAC ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาอยู่ที่ระดับ 2.3 เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต จากการที่บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง อัตราส่วน FFO Net Leverage อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกและอยู่ในระดับสูงกว่า 2.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง หากบริษัทยังคงจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง DTAC อยู่ในช่วงที่มีการลงทุนในระดับสูง ในขณะที่การเติบโตของรายได้และกำไรอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า การจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง อาจลดความสามารถของ DTAC ในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน และส่งผลลบต่ออันดับเครดิต
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ได้แก่ เงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง : ฟิทช์มองว่าการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูง สะท้อนถึงนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทน้อยลง การจ่ายเงินปันผลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจ่ายปันผลคิดเป็น 100% ของกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2563 และครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 75% ในปี 2562 และ 50% ในปี 2561
อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทในการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ และรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ต่ำกว่า 3 เท่า ฟิทช์คาดว่าเงินปันผลที่จ่ายในปี 2564 จะมีสัดส่วนประมาณ 34% ของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เทียบกับระดับเฉลี่ยที่ 19% ในช่วงปี 2561-2563
Rating Headroom ที่จำกัด : ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบอันดับเครดิต (Rating Headroom) ของ DTAC อยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO Net Leverage จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2564 (2563: 2 เท่า) ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและการชำระค่าคลื่นความถี่น่าจะปรับตัวลดลงในปี 2565 แต่ DTAC อาจต้องมีการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม โดยเฉพาะคลื่น mid-band 3.5GHz เพื่อรองรับการขยายเครือข่าย 5G ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ความคล่องตัวทางการเงินที่ลดลง : การจ่ายเงินปันผลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ DTAC มีความคล่องตัวทางการเงินที่ลดลงในการรองรับการลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติมโดยไม่มีผลกระทบกับสถานะทางเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่าการดำเนินนโยบายเพื่อการรักษาสถานะทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผลที่มีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ จะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง เพียงพอในการรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับคลื่นความถี่ใหม่ในอนาคต หากมีความจำเป็น
รายได้ที่เติบโตต่ำ : ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับต่ำ จากการระบาดของโคโรน่าไวรัสระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และมาตรการต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของ DTAC ในปี 2564 ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจของ DTAC จะเป็นไปอย่างช้าๆ ในปี 2565 โดยมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ประมาณ 2-3% เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และการพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
การลดค่าใช้จ่ายช่วยสนับสนุนกำไร : ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ DTAC จะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งในปี 2564 และ 2565 ที่ระดับประมาณ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาท ต่อปี (2563: 2.3 หมื่นล้านบาท) โดยกำไรจะได้รับการสนันสนุนจากมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 35.6% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จาก 34.5% ในปี 2563 โดยค่าใช้จ่ายสำหรับโครงข่ายปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9% ของรายได้จากการให้บริการ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จาก 11% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 EBITDA ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท จากระดับต่ำสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท
การครอบครองคลื่นความถี่มากขึ้น : ฟิทช์คาดว่าคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ DTAC ได้รับในเดือนธ.ค.2563 จะเพิ่มความครอบคลุมของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และคุณภาพการให้บริการของ DTAC โดยบริษัทอยู่ระหว่างการขยายเครือข่าย 4G ไปยังพื้นที่ชนบทโดยใช้คลื่นความถี่ 700 MHz และมีเป้าหมายที่จะให้เครือข่ายมีความครอบคลุม 93% ของพิ้นที่ที่ใช้งานภายในปี 2564 (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 อยู่ที่ 80%) ซึ่งน่าจะลดความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้อยกว่าคู่แข่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ส่วนแบ่งทางการตลาดของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และบริษัทได้กลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ฟิทช์คาดว่า DTAC จะสามารถรักษาสัดส่วนทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ระดับ 22-23% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2563 อยู่ที่ 22%) เนื่องจากคุณภาพของเครือข่ายที่ดีขึ้น และการแข่งขันในตลาดที่ลดลง
การแข่งขันในระดับปานกลาง : ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันด้านราคาในปี 2565 จะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ผู้ประกอบการน่าจะมุ่งเน้นการทำกำไร มากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดโดยการปรับลดค่าบริการ อย่างไรก็ตามสภาพการดำเนินธุรกิจที่ท้าทาย อาจทำให้มีการแข่งขันด้านราคาในช่วงสั้นๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ฟิทช์คาดว่านโยบายที่มุ่งเน้นการทำกำไรและการแข่งขันที่ไม่มาก น่าจะช่วยเพิ่มสนับสนุนให้ค่าบริการมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีกำไรจากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว
ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่ : ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของ DTAC แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (อันดับเครดิต ‘AA+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุด เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าที่ร้อยละ 46 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีประมาณการณ์อัตราส่วน FFO Net Leverage อยู่ที่ 1.2-1.3 เท่า และมีกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งกว่า DTAC
อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ DTAC ที่ ‘aa-(tha)’ มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งมีอันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย DTAC ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีเสถียรภาพมากกว่า ในขณะที่ SCC ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และปิโตรเคมี ที่มีความผันผวน นอกจากนี้ DTAC ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า SCC
เปรียบเทียบกัน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) ซึ่งมีอันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ DTAC มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผู้นำทางการตลาดของสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ สถานะทางการเงินของ ThaiBev ยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ยังคงทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น Standalone Credit Profile ของ DTAC ที่ ‘aa-(tha)’ อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของ ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับ
บริษัท พีทีที โกล บอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งมี Standalone Credit Profile ที่ ‘aa-(tha)’ มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า DTAC และได้รับผลประโยชน์จากการผลิตที่ครบวงจรในธุรกิจปิโตรเคมี และความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติ ปัจจัยดังกล่าวช่วยลดทอนความเสี่ยงจากการที่บริษัทอยู่ในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันที่มีความผันผวนสูง โดยบริษัทั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น Standalone Credit Profile จึงอยู่ที่ระดับเดียวกัน
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ DTAC ที่ AA(tha) ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจาก Standalone Credit Profile ของ DTAC จากความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับบริษัทแม่ หรือ Telenor ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอื่นๆ DTAC มีความสำคัญในด้านกลยุทธ์ต่อ Telenor เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่สำคัญที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย รายได้จาก DTAC อยู่ที่อันดับสองของกลุ่ม ( 20.3% ) และ EBITDA จาก DTAC อยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่ม ( 17.2% ) ในครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าธุรกิจในประเทศนอร์เวย์เล็กน้อย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากทั้งคู่ดำเนินธุรกิจในประเทศที่ต่างกัน
ความสัมพันธ์ในระดับปานกลางของ DTAC กับบริษัทแม่ มีลักษณะใกล้กับความสัมพันธ์ ของบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC ซึ่งมีอันดับเครดิต ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ กับบริษัทแม่ หรือ PTTGC โดยอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ HMC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจาก Standalone Credit Profile ที่ ‘bbb+(tha)’ HMC เป็นผู้รับซื้อโพรพิลีนรายใหญ่ของ PTTGC ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงในการผลิตในธุรกิจสายโพรพิลีน อีกทั้ง PTTGC ยังให้ HMC เป็นบริษัทหลักในธุรกิจ PP อย่างไรก็ตาม HMC มีขนาดเล็ก โดย EBITDA ของ HMC คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของ PTTGC
สำหรับรายได้เติบโตในระดับต่ำที่ 1% ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการที่อ่อนแอหลังจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสระลอกใหม่ และมาตรการต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาด ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2564 คาดว่ารายได้จะเติบโตประมาณ 3% ในปี 2565 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตราการควบคุมการแพร่ระบาดEBITDA margin ที่ 35-36% ในปี 2564 และ 2565 (ครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ 35.8%) เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 2566 (2563 อยู่ที่ 9.9 พันล้านบาท)จ่ายเงินปันผลจำนวน 7.5 พันล้านบาทในปี 2564 และ 5 พันล้านบาทในปี 2565
ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต การดำเนินนโยบายเพื่อการรักษาสถานะทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผลที่มีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วน FFO Net Leverage ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้แนวโน้มเครดิตถูกปรับเป็นมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต ปัจจัยบวกข้างต้นไม่เกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่มีผลกระทบในแง่ลบความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง
ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ DTAC สามารถบริหารจัดการได้ในปี 2564 โดยสภาพคล่องของ DTAC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูงจำนวน 7.1 พันล้านบาท และ วงเงินกู้ที่สามารถเบิกถอนได้จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 และ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินกู้ภายในประเทศ บริษัทมีหนี้จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ที่ถึงกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าจากครึ่งปีแรกของปี 2564 DTAC ได้มีการเบิกเงินกู้จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เพื่อชำระคืนเงินกู้ที่ถึงกำหนดในปี 2564 และสนับสนุนการลงทุน
สำหรับ DTAC เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับที่ 3 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ 22% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 โดย DTAC มี Telenor เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่