กกร.มองเศรษฐกิจไทยปี 64 ดีขึ้นโต 0-1%

HoonSmart.com.>>กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ดีขึ้นอยู่ในกรอบ 0-1% ประเมินน้ำท่วมกระทบ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ 0.1% ของจีดีพี จับตาสถานการณ์น้ำท่วมและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เล็งทำจดหมายถึงนายกฯหนุนไทยร่วม CPTPP ห่วงเสียโอกาสหากล่าช้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.0 % ถึง 1.0% จากเดือน ก.ย.ที่คาดขยายตัว -0.5 ถึง 1.0%หลังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ลดลง การกระจายวัคซีนทำได้ดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลออกมาตรการต่างๆมากระตุ้นการใช้จ่าย

แต่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและตัวเลขการติดเชื้อหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนการส่งออกคงเป้าหมายเดิมขยายตัว 12.0% ถึง 14.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขค่าระวางเรือที่ไม่สูงเกินไป ควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศ แม้ว่าหลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง โดยเบื้องต้นประเมินว่ากระทบเศรษฐกิจประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.1% ของจีดีพี โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 50% หรือ 8,000 ล้านบาท

ซึ่งปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของภาคธุรกิจ และประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง แม้(กบง.) จะมีมติลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บ./ลิตร แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในขาขึ้น ดังนั้นรัฐต้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ได้แก่
1.กกร.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP โดยจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน และเร่งรัดการพิจารณา เพราะหากไทยยังล่าช้า จะทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

2. แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) จะเสนอให้มีตัวแทนภาคเอกชน (กกร.) ร่วมในกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการชุดย่อยอื่น ๆ รวมถึงพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตราที่เกี่ยวกับบทลงโทษ (หมวดที่ 6 และหมวดที่ 7) ออกไปเป็นเวลาอีก 3 ปี

3. ขอให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาคบังคับ และผลักดันให้บัญชีสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากอีโค่พลัส อยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นสิ่งที่รัฐต้องส่งเสริม โดยลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า