HoonSmart.com>>ผู้ว่าการธปท.เผย 3 มิติ ดูแลสถาบันการเงิน”ด้านข้อมูล-การแข่งขัน-โครงสร้างพื้นฐาน” ย้ำไม่สนับสนุนคริปโทเคอเรนซี “ผยง” ธนาคารกรุงไทยหนุนนำเทคโนโลยีมาใช้บริการ ลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่ม ราคาหุันสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง “อาทิตย์”แบงก์ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าเป็น Tech Company ใน 3-5 ปี “ปิติ” มองสถาบันการเงินไทยที่จะเติบโตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ต้องนำนวัตกรรมของธนาคารไปสร้างกิจกรรมต่อกับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก มีรายได้ ส่งต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทย
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Next The Future of Financial System : อนาคตโลกการเงิน” ว่า การให้บริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสถาบันการเงินอย่างมาก เช่น การพัฒนา Mobile Banking การโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งบทบาทของธปท.ในการดูแลการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะมี 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่
1. More open data คือการนำฐานข้อมูลในระบบไปใช้ในการให้บริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแชร์ data footprint ข้ามธนาคารได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อ
2. More open competition คือการทำให้การแข่งขันในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่จะได้รับบริการทันสมัย มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น
3. More open infrastructure การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำแพลตฟอร์มที่แบงก์และนอนแบงก์มาใช้บริการได้ ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ทำได้ง่ายขึ้น
“เรื่องคริปโทเคอเรนซี ธปท.ย้ำว่าเราไม่สนับสนุนให้ใช้ เพราะราคาของสินทรัพย์ผันผวน มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์และเสี่ยงถูกใช้ในการฟอกเงิน แต่สนับสนุนใช้เทคโนโลยีผ่านสกุลเงินของรัฐในรูปแบบดิจิทัล หรือ ซีบีดีซี (CBDC) ที่เปิดกว้างให้คนเข้าถึงง่าย ปลอดภัยและไม่แสวงหากำไร”นายเศรษฐพุฒิกล่าว
สำหรับ”อนาคตสถาบันการเงินไทย” นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยมีเป้าหมายที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้า โดยการให้บริการที่ไม่มีวันหยุด มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคารพาณิชย์ และสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง สัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ควรอยู่ที่ 1.5-1.6 เท่า แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.64 เท่า
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) มองว่า 4 ปัจจัยที่มีผลต่อสถาบันการเงินไทย ได้แก่ 1. เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การปล่อยสินเชื่อทำได้ยากขึ้น 2.เทคโนโลยี ทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำของผู้เล่นรายใหม่ 3. พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่คาดหวังการให้บริการที่รวดเร็ว ทันสมัย ตอบสนองตรงกับความต้องการ 4. กฎระเบียบและการควบคุม (Regulator) ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในระบบ
“ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา SCB จึงได้พัฒนาและปรับตัวเองเป็น Tech Company เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน แม้ปัจจุบันจะยังไม่ชัดเจน แต่ตั้งเป้าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ถ้าธนาคารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โอกาสอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ก็จะลดน้อยลง”นายอาทิตย์กล่าว
นาย ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า อนาคตของสถาบันการเงินไทยที่จะเติบโตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน นอกจากจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยแล้ว ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการนำนวัตกรรมของธนาคารไปสร้างกิจกรรมต่อกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้มีรายได้และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยได้ผ่านเฟสแรกที่เป็น mobile Banking และ Digital banking มาแล้ว โดยการนำไปใช้ในเรื่องการจ่ายบิลและชำระค่าสินค้า แต่ต้องยอมรับว่า mobile banking ยังพัฒนาได้อีกมาก ทั้งในเรื่องของการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต การทำให้คนเข้าถึงการลงทุนและการออมในระยะยาว โดยการพัฒนาให้สะดวกและเข้าใจง่ายขึ้น
“แบงก์จะมีอนาคตก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทย คนไทยมีอนาคต ดังนั้นถ้าแบงก์อยากมีอนาคต ก็ต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทย คนไทยมีอนาคต”นายปิติ กล่าว