โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)
.
Apple Inc. (AAPL) -3.31% เมื่อวันศุกร์ (10 ก.ย.) รับข่าวศาลสหรัฐตัดสินว่า บริษัทมาร์เก็ตแคปใหญ่สุดในโลกไม่สามารถกีดกันผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจากการส่งลิ้งก์หรือสื่อสารรูปแบบใดๆเพื่อให้ผู้ใช้งานซื้อของผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากระบบสั่งซื้อภายในแอปสโตร์ (in-app purchasing) ซึ่งแอปเปิ้ลคิดค่าคอมมิชชั่น 15%-30% ของยอดขาย แม้บริษัท Epic Games คู่กรณีในคดีดังกล่าวมิอาจพิสูจน์ว่าแอปเปิ้ลเป็น “ผู้ผูกขาด” (monopolist) แต่คำตัดสินครั้งนี้น่าจะเปิดทางให้บรรดา developers พาผู้ใช้งานไปยังเว็บไซต์ของตนเองเพื่อสมัครสมาชิกหรือซื้อคอนเทนต์ จนอาจกระทบยอดขายของแอปเปิ้ลในส่วนที่ได้จากแอปสโตร์
ย้อนหลังไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ “เกาหลีใต้” เป็นชาติแรก ที่สั่งแบนการผูกขาดชำระเงินผ่าน App Store และ Play Store โดยสภาฯอนุมัติร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยเสียงเอกฉันท์ และดูเหมือนจะสร้างบรรทัดฐานให้ประเทศอื่นๆทำตาม
ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (Regulation Risk) โถมกระหน่ำหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนจนราคาร่วงลงอย่างหนักในปีนี้ และกำลังรุกคืบเข้าไปท้าทายบรรดายักษ์เทคสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการกินส่วนแบ่งตลาดเยอะจนแทบจะผูกขาดและวิธีเก็บข้อมูลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของบริษัทเหล่านั้นล้วนตกเป็นเป้าโจมตี
“หุ้นเทค” (Tech Stocks) ยังมีโอกาสโตสูงกว่าสินทรัพย์ทั่วๆไปในระยะยาว แรงกดดันทางการเมืองและกฎระเบียบจากทั้งสองขั้วอำนาจ สหรัฐ-จีน กระตุ้นให้นักลงทุนออกไปหาหุ้นเทคตลาดอื่นที่น่าสนใจและ “ได้เปรียบ” ในแง่มุมดังกล่าว
EUROTECH “เทคยุโรป” เผชิญความเสี่ยงกฎระเบียบ “น้อยกว่า” ด้วย 3 เหตุผล (จากบทความ Technology exists in Europe too! โดย Jon Ingram และ Alex Whyte ผู้บริหาร JPMorgan Funds – Europe Dynamic Technologies Fund)
1. บริษัทเทคโนโลยียุโรปจำนวนมากทำธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (niches) ดังนั้น ถึงแม้สร้างผลกำไรสูงแต่ปัจจุบันสเกลก็ไม่กว้างถึงขนาดที่จะกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับการผูกขาดในระดับใหญ่
2. ยุโรปเป็นเลิศในธุรกิจ B2B โดยบริษัท เทคยุโรปใหญ่สุด 10 อันดับแรก ล้วนมุ่งเสนอสินค้า/บริการแก่ภาคธุรกิจด้วยกัน (business-to-business) ชื่อเหล่านี้จึงอาจไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไป แต่ต่างก็เป็นผู้เล่นชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรมของตนเอง และไม่ค่อยเสี่ยงกับประเด็นความเป็นส่วนตัวเชิงข้อมูล (data privacy) ตัวอย่างหุ้นเทคยุโรป B2B ชั้นนำ เช่น ASML ผู้สร้างอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ผลิตชิปยุคใหม่ (next generation semiconductors) และ Adyen ซึ่งทำ software ชำระเงิน สนับสนุนธุรกิจหลายแบรนด์ใหญ่ระดับโลก
3. บริษัทยุโรปมีประสบการณ์โชกโชนกับผู้คุมกฎที่เข้มงวด (ตัวอย่างเช่น Margrethe Vestager กรรมาธิการด้านการแข่งขันแห่งสหภาพยุโรป) และได้ปรับปรุงนโยบายเก็บรักษาข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามเกณฑ์ General Data Protection Regulation (GDPR) เรียบร้อยแล้ว หมายความว่า บริษัทจำนวนมากแข็งแกร่งในด้านนี้ ข้อได้เปรียบดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนยุโรปให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็น สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG)
“เทคยุโรป” น่าลงทุนที่สุด (ในบรรดาเทคโนโลยี 3 ตลาด: สหรัฐ, จีน, ยุโรป) ราคาหุ้นมักจะถูกกว่าเทคสหรัฐตัวที่คล้ายกัน ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบก็มีน้อยกว่า นอกจากนี้ นโยบายสหภาพยุโรปสนับสนุนเต็มสูบ ขณะความเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิดช่วยเร่ง/ขยายโอกาสแก่ธุรกิจในธีมเทคโนโลยี ตัวที่น่าสนใจรองลงมาคือ “เทคจีน” ความเสี่ยงลดลงมากแล้วเพราะกลายเป็นปัจจัยลบสะท้อนในราคาหุ้นซึ่งร่วงแรงเกินเหตุจนเจอ “ผู้ซื้อ” อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในตลาดจีนยังคงสูง จึงควรเข้าไปกับผู้จัดการสไตล์ยืดหยุ่นลงทุนได้หลากหลายเซ็กเตอร์ เช่น KT-CHINA ส่วนหุ้นเทคสหรัฐปัจจุบันน่าจะมีความคุ้มค่าน้อยที่สุดใน 3 ตลาด
เตรียมเข้าสู่ Mid-Cycle ด้วย “เทคยุโรป” หุ้นธีมเปิดเมือง (open up) ลดความนิยมลงไปเพราะภูมิภาคนี้เปิดมานานแล้ว เศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นจน ECB เตรียมลดอัตราการซื้อสินทรัพย์ นำยุโรปเข้าสู่ “ช่วงกลางวัฏจักร” (mid-cycle) น่าจะกระตุ้นให้เงินลงทุนโฟกัสหุ้นเติบโตสูงกลุ่มที่อิงปัจจัยขับเคลื่อนระยะยาวมากยิ่งขึ้น ตัวหลักๆได้แก่ เทคโนโลยี climate change
กองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน เทคโนโลยี อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EUROTECH) เสนอขายครั้งแรก (IPO) 15 – 21 ก.ย. 64 ลงทุนในหน่วยของ JPMorgan Funds -Europe Dynamic Technologies Fund (กองทุนหลัก) เน้นบริษัทในภูมิภาคยุโรปที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นหลัก ธุรกิจที่ลงทุนได้มีหลากหลาย อาทิ Sustainability: Biofuel, EVs & Charging, Wind & Solar power / Digitalisation: Big data, E-commerce, Video gaming / Sustainable & Digital enablers: 5G, IT consulting, Semiconductors & Foundry เป็นต้น (ระดับความเสี่ยงกองทุน = 6)
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน