ดัชนี KR-ECI เดือนส.ค.แตะ 33.0 ทรงตัวในระดับต่ำผลจากการล็อกดาวน์

HoonSmart.com>>ดัชนี KR-ECI เดือน ส.ค.64 และ 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ บ่งชี้ถึงความกังวลต่อการครองชีพของภาคครัวเรือน แนะภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่าย เร่งกระจายและฉีดวัคซีน สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในเดือนส.ค.64 ครัวเรือนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่อง โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) อยู่ที่ 33.0 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่าในช่วงล็อกดาวน์ทั้งประเทศในปีก่อน ครัวเรือนส่วนมากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ ขณะที่ความกังวลด้านรายได้และการจ้างงานยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มทรงตัวในช่วงปลายเดือน ช่วยสนับสนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยอยู่ที่ 35.5 จาก 33.8 ในเดือนก.ค. แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มองมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟเป็นโครงการที่เข้าถึงและช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา คาดว่ามีสาเหตุมาจากมาตรการดังกล่าวสามารถเข้าถึงครัวเรือนทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขหรือการลงทะเบียน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายประจำรายเดือนของทุกครัวเรือนที่ปัจจุบันบางส่วนเผชิญกับภาวะรายได้ที่ลดลง

ขณะที่โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นโครงการที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่รู้จักและมองว่าไม่สามารถบรรเทากระทบที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ของภาครัฐออกมาในช่วงที่สถานการณ์ระบาดยังไม่รุนแรงและยังไม่มีการยกระดับการคุมเข้มมาตรการระบาด

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนก.ย. ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาได้บ้าง

แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำและกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้า ดังนั้นมาตรการเยียวยาที่เข้าถึงได้และตรงจุด รวมถึงการจัดหาและการเร่งฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็น