HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ แบงก์ไทยมีสถานะทางการเงินด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ช้ากว่า ย้ำหลังพ้นโควิด ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินระยะเวลาเกือบสองปี โดยหากมองธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จะพบหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สถานการณ์กำไรสุทธิของภาพรวมระบบธนาคารของไทยปัจจุบันบางส่วนมาจากรายได้ดอกเบี้ยค้างรับตามสิทธิ์ ขณะที่แบงก์ไทยมีสถานะทางการเงินด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ช้ากว่า
นอกจากนี้ผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนปัญหาคุณภาพหนี้และพอร์ตหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ลดลงช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และยังสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทยหลายด้าน เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีธุรกิจที่เผชิญผลกระทบหนักจากโควิดในสัดส่วนสูง อาทิ โรงแรมและที่พัก ขนส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 33.1% ต่อจีดีพี (ปี 2562) อันเป็นธุรกิจภาคบริการสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้ธนาคารพาณิชย์ ก็มีสินเชื่อในธุรกิจดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน โดยมีสัดส่วนถึง 49.0% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด (ไม่รวมกิจการด้านการเงิน) ในปี 2562 แม้ว่าจะทยอยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 48.1% ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 ขณะที่ หากเจาะเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีใน 5 หมวดนี้ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 60.5% ณ สิ้นปี 2562 และ 64.0% ณ สิ้นไตรมาส 2/2564
นอกจากนี้ยังมีปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ด้อยลงอีกหลังโควิด ข้อมูลล่าสุดจากพอร์ตสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วน 36.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 2/2564
มองไปข้างหน้า แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหรือปัญหาคุณภาพหนี้ที่ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดในรอบนี้ที่ยังมีอยู่ โดยการเห็นตัวเลขที่กลับสู่ระดับก่อนโควิด คงยากจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีนี้ ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการที่กลับสู่ระดับก่อนโควิดแล้วในปี 2564
แต่โจทย์ที่สำคัญและน่ากังวลมากกว่า จะเป็นความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องฝ่าฟันปัญหาด้านรายได้ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับยังต้องเร่งหาคำตอบว่า ไทยจะอาศัยจุดแข็งของธุรกิจใดในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ที่ไทยเก่งแต่เป็นเทคโนโลยีในโลกเก่า เพราะจะหมายความถึงความยั่งยืนของทิศทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ ครัวเรือน ตลอดจนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะยาว
ขณะที่ ในระหว่างนี้ ฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็คงแก้ปัญหาและเร่งปรับตัวเฉพาะหน้าเพื่อหาวิธียืนยันรายได้ทางเลือกของลูกค้า การหาลูกค้าศักยภาพ (ที่มีจำนวนน้อยลง) การลดต้นทุนในมิติต่างๆ รวมถึงการหาโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มากไปกว่าโลกการเงินแบบเดิม ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ลูกค้าได้กว้างและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม และพอจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประคองการเติบโตไว้ได้ แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนได้ หากไม่ได้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังจากโควิดจบอย่างจริงจัง
ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ