NOK ขาดทุนปี 63 พุ่งเฉียด 8 พันลบ.เซ่นโควิด ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบ

HoonSmart.com>> “สายการบินนกแอร์” เปิดงบปี 63 ขาดทุนสุทธิ 7,991 ล้านบาท จากงวดปีก่อนขาดทุน 2,051 ล้านบาท ผลกระทบโควิด-19 มาตรการปิดเมือง มี.ค.-พ.ค.63 หยุดบินระหว่างประเทศชั่วคราว ขาดทุนค่าเงิน รับรู้ผลขาดทุนปิดสายการบินนกสกู๊ด ด้านผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบ เหตุ NOK ขาดสภาพคล่อง ถูกกระทบโควิด เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้น SP หุ้น 1 ก.ย.64 อยู่ระหว่างพิจารณาเพิกถอนหุ้นเหตุส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50%

บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดประจำปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 ขาดทุนสุทธิพุ่งแตะ 7,991.25 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 2.19 บาท สูงขึ้นจากงวดปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 2,051.39 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.68 บาท

ด้านผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงิน เนื่องจาก 1.การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท และ 3.การเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ

สำหรับงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 2563 จำนวน 7,295.86 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนของบริษัทใหญ่จำนวน 7,895.49 ล้านบาท และผลกำไรจากส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 599.63 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลขาดทุนเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัทจำนวน 7,895.49 ล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 5,967.15 ล้านบาท หรือมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 309.45%

ปัจจัยหลักและเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ดังนี้ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องโดยตรงต่อการเดินทางทางอากาศและสถานการณ์ของสายการบินทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้โดยสารทางอากาศโดยรวมทั้งภายในและระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากการควบคุมการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศที่เข้มข้น และมาตราการปิดเมืองของภาครัฐในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2563 เป็นเหตุให้สายการบินนกแอร์ได้มีการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ดีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวสายการบินนกแอร์ไม่ได้ทำการหยุดการให้บริการภายในประเทศและเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการการบินภายในประเทศ เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกับลูกค้าในยามสถานการณ์ที่วิกฤตถึงแม้การให้บริการในแต่ละเที่ยวบินภายในประเทศจะส่งผลการดำเนินงานที่ขาดทุน

2. ในขณะที่ผู้โดยสารเริ่มมีการเดินทางภายในประเทศมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 อัตราการแข่งขันในเรื่องราคาค่าตั๋วเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการสายการบินทุกสายการบินได้ถูกจำกัดการบินเพียงภายในประเทศ อันเป็นผลให้ราคาค่าตั๋วและอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารลดลง

3. จากการนำมาตรฐานบัญชีการรายงานงบการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากบริษัทมีสัญญาเช่าระยะยาวที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ

4. การแจ้งเลิกกิจการของ บริษัท สายการบินนกสกู๊ด จำกัด (บริษัทย่อย) เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 อันเป็นผลทำให้บริษัทรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยที่ขาดทุนต่อเนื่อง

สำหรับงบการเงินรวมสำหรับปี 2563 บริษัทฯมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 6,735.39 ล้านบาท หรือลดลง 66.27% จากปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวบินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท มีจำนวนรวม 16,173.75 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 29.87% ซึ่งลดลงในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้ที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากในปี 2563 บริษัทบันทึกต้นทุนดอกเบี้ยของสิทธิการใช้เครื่องบินและพื้นที่ตามสัญญาเช่า จำนวน 607.43 ล้านบาท จากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่ามาใช้, บันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิด ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เป็นยอดเงินจำนวน 3,104.62 ล้านบาท และบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์สิทธิการใช้เป็นยอดเงินจำนวน 3,446.30 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ จำนวน 7,295.86 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้รับรู้ผลขาดทุนจากการเลิกกิจการของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ทำให้ส่วนผลขาดทุนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 7,895.49 ล้านบาท

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น NOK วันที่ 1 ก.ย. 2564 เนืองจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนกรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ โดยจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการหรือภายในวันที่ 9 ก.ย. 2564 นอกจากนี้จะขึ้นเครื่องหมาย NP วันที่ 2 ก.ย.2564 เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้

ปัจจุบัน NOK เป็นหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว และศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ