HoonSmart.com>> “โคลเวอร์ เพาเวอร์” ขายหุ้นไอพีโอ 320 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.90 บาท เปิดจองวันที่ 25-27 ส.ค.นี้ คาดเข้าเทรด SET ต้นเดือน ก.ย.นี้ นำเงินขยายธุรกิจ-ชำระหนี้ -หมุนเวียนในกิจการ ตั้งเป้าพอร์ตแตะ 85 เมกะวัตต์ภายในปี 64 และ 180 เมกะวัตต์ ในปี 66
นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ในฐานะแกนนำผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นจำนวน 320 ล้านบหุ้น ที่ราคา 3.90 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.5 บาทต่อหุ้น โดยเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นในช่วงวันที่ 25-27 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงต้นเดือน ก.ย.2564
“มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้น CV ครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ราคาขายที่ 3.90 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และจากแผนการลงทุนที่ชัดเจนในการขยายโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ ประกอบกับความชำนาญกว่า 15 ปี จะช่วยให้สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น” นายชัยพัชร์ กล่าว
นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการใช้เงินระดมทุนหลังหักค่าใช้จ่ายมูลค่าประมาณ 1,195 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 740 ล้านบาท ใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบของการซื้อกิจการและการพัฒนาโครงการเอง และ 330 ล้านบาท ใช้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินกู้ยืมจากกรรมการ ส่วนอีก 125 ล้านบาท ใช้เพื่อหมุนเวียนภายในกิจการ
สำหรับโครงการในอนาคต บริษัทอยู่ระหว่างการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และอีกโครงการที่อยู่ระหว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2 โครงการ 39.8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสในการเติบโตอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2564 ที่จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์ และ 180 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566
ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ และมีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญารวม 23.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการ และโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ มีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคงเหลือเกือบ 16 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำให้มีผลประกอบการที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทฯมีธุรกิจให้บริการงานด้านวิศวกรรม (EPC) แบบครบวงจรในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพ รวมถึงพลังงานสะอาด โดยมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมก่อสร้าง รวมถึงมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (O&M) ที่ให้บริการภายในกลุ่มเอง และให้บริการลูกค้าโรงไฟฟ้าทั่วไปด้วย ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ประกอบการพลังงานที่ครบวงจรตั้งแต่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า การขายไฟฟ้า ไปจนถึงเดินเครื่องซ่อมบำรุงรักษา
“ในช่วง 3 ปีนี้ (2564-2566) เราจะมุ่งเน้นลงทุนในสิ่งที่เราถนัด เพื่อความสามารถในการแข่งขันที่ดี จากความชำนาญกว่า 15 ปี เราถนัดโรงไฟฟ้าที่เป็นขนาดเล็ก หรือมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ด้วยความชำนาญตั้งแต่การก่อสร้าง ได้ต้นทุนถูกลง ไปจนถึงการซ่อมบำรุงและเดินเครื่อง ในอนาคตโครงการขนาดเล็กจะออกมามากขึ้น ตามแผนของภาครัฐ ที่จะส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามชุมชน ทำให้โอกาสการลงทุนค่อนข้างมาก” นายเศรษฐศิริ กล่าว
ด้านผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 401 ล้านบาท , 644 ล้านบาท และ 2,521 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปี 2561 มีผลขาดทุนสุทธิ 5 ล้านบาท , และมีกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2562-2563 ที่ 22 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งรายได้และกำไรในปี 2563 ที่ปรับตัวขึ้นสูง เนื่องจากมีงานก่อสร้างโครงการใหญ่เข้ามา
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2/2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 698 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 38% และหลังจากการเข้าระดมทุนแล้วเสร็จคาดว่าอัตราส่วน D/E และ IBD/E จะลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.3 เท่า และ 1.3 เท่า ตามลำดับ