HoonSmart.com>>บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ ทยอยประกาศกำไรสุทธิงวดไตรมาสที่ 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 ออกมาเริ่ดหรู ส่วนใหญ่เติบโตก้าวกระโดดหลายร้อยเปอร์เซนต์ แต่ไม่ยั่งยืนในอนาคต หากนักลงทุนคิดที่จะเข้าไปซื้อหุ้นตอนนี้ จะต้องคิดให้หนัก แนวโน้มอาจจะไม่สวยงามอย่างที่คาด นอกจากปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยแล้ว สมรภูมิการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก หากบริษัทใดปรับตัวช้า หาธุรกิจใหม่ ๆ มาเติมไม่ทันเวลา ก็จะมีโอกาสถดถอย ในที่สุดอาจจะอยู่ไม่รอดในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงก็เป็นไปได้ในอนาคต…
ในไตรมาสที่ 2/2564 บริษัทหลักทรัพย์เกือบทุกแห่งมีกำไรโดดเด่น พุ่งแรงมากกว่า 100% เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ธุรกิจหลัก รายได้จากค่านายหน้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่แห่มาเปิดบัญชีสูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อได้สิทธิการจองหุ้น IPO ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ บริษัท เงินติดล้อ (TIDLOR) ทำให้สิ้นเดือนมิ.ย. มีบัญชีซื้อขายรวม 1,964146 ราย หากนับซ้ำจากเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์หลายราย พบว่ามีบัญชีซื้อขายทั้งหมด 2,803,033 ราย ไม่รวมบัญชีซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอีกจำนวนใกล้เคียงกัน
บริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่กำไรดีขึ้นมาก มีเพียง บริษัททรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) ที่ลดลงประมาณ 56% เหลือจำนวน 42 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนมีกำไรสุทธิถึง 95 ล้านบาท มาจากกำไรและผลตอบแทนจากเงินลงทุนจำนวนมาก 92.74 ล้านบาท หาโอกาสจากความผันผวนของดัชนีที่ดิ่งลงแรงจากสถานการณ์โควิดครั้งแรก พลิกกลับขึ้นมาเป็น 1,024 จุดในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นทะลุ 1,400 จุดในเดือนมิ.ย. 2563
ในทางกลับกัน ความผันผวนของตลาดที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2563 ทำให้บริษัทบางแห่งแย่ลง เช่น บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) ถึงกลับขาดทุน 10.89 ล้านบาท และบริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ขาดทุน 26 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะต้องบันทึกขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ปีนี้พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ
ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ภาวะตลาดที่ปรับตัวขึ้น ดัชนีขึ้นไปสูงสุดที่1,636.56 จุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ยังคงทำให้ธุรกิจหลักเติบโตต่อเนื่อง GBX พุ่งแรงที่สุด 1,825% มีกำไร 77 ล้านบาท ตามด้วย TNITY พลิกกลับมามีกำไร 109 ล้านบาท บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI พลิกมีกำไรถึง 1,136 ล้านบาท บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET มีกำไรสุทธิ 448 ล้านบาท และบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ YUANTA ทำกำไรได้ 433 ล้านบาท
บล.เคจีไอ มีกำไรสูงกว่า 1,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากกําไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินถึง 1,384 ล้านบาท โดยเฉพาะกําไรจากอนุพันธ์จำนวน 1,056 ล้านบาท จากจุดเด่นที่เป็นผู้นำในการออกใบสําคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) แต่ธุรกิจก็มีความไม่แน่นอน เห็นได้จาก 6 เดือน/2563 ประสบการขาดทุน -377 ล้านบาท
ส่วนบล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทลดลงจาก 6.69% เป็น 5.65% แต่กำไรสุทธิยังคงพุ่งแรง 605% มาอยู่ที่ 154.03 ล้านบาท มาจากรายได้ค่านายหน้า 974 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.56% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันของบริษัทเพิ่มขึ้น กำไรจากเครื่องมือทางการเงิน 113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.51% มาจากธุรกรรมการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เพิ่มขึ้น 39.11 ล้านบาท และรายได้จากเงินปันผลเพิ่มขึ้น 7.05 ล้านบาท
กำไรที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรก สำหรับบล.บางแห่งยังมีโมเมนตัมให้ปรับตัวดีขึ้นได้ต่อ แต่บางแห่ง อาจจะชะลอตัวลง ตามภาวะตลาดโดยรวมในเดือน ก.ค. มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 77,785 ล้านบาท หายไปเกือบ 24.66% เทียบกับเดือนพ.ค. มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงสุดถึง 103,240 ล้านบาท หลังเผชิญปัจจัยลบหลายประเด็น ทำให้หุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติขายอย่างหนักมานานหลายปี ต่อเนื่องในปีนี้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยก็เพิ่มการลงทุนยังต่างประเทศ เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายบุคคลของไทยยังมีบทบาทในการซื้อขายหลักทรัพย์มากเกือบ 50%เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มีบัญชีเคลื่อนไหวหรือแอคทีฟ มากกว่า 8 แสนราย สำหรับบัญชีซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่และผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอีก 7 แสนราย ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่นิยมหุ้นขนาดกลางและเล็ก รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ส่งผลให้ราคาขึ้นไปสูงมาก เห็นได้จากตลาด mai เทรดที่ P/E อยู่ที่ 90-70 เท่า เมื่อสิ้นเดือนมี.ค. และมิ.ย.ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 53 เท่า แต่ยังคงซื้อขายสูงกว่า 2 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชี(บุ๊ก) หากจะไปเก็งกำไรในหุ้นขนาดใหญ่ ก็เอาชนะลำบาก เมื่อคู่แข่งอย่างนักลงทุนต่างชาติ บล. มีการใช้โปรแกรมมาช่วยในการซื้อขาย และนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายหุ้นออกไปก่อนโดยไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตด้วย (เน็กเก็ตชอร์ต)
แนวโน้มตลาดไม่เอื้ออำนวยในการเก็งกำไร การหดตัวลงอย่างรุนแรงของมูลค่าการซื้อขายในเดือนก.ค. อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าจะซึมต่อเนื่องในเดือนต่อๆไป ดังนั้นคงไม่ใช่เวลาทองของธุรกิจหลักทรัพย์….