HoonSmart.com>> “จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล” ไตรมาส 2/64 ขาดทุนหนักขึ้น 910 ล้านบาท จากงวดปีก่อนขาดทุน 414 ล้านบาท รายได้ลด ขาดทุนค่าเงิน ฉุดครึ่งปีขาดทุน 1,176 ล้านบาท ลุยปรับโครงสร้างองค์กร สร้างรายได้ใหม่ต่อยอดจากธุรกิจเดิม
บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 ขาดทุนสุทธิ 910.99 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.11 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 120% จากงวดปีก่อนขาดทุนสุทธิ 413.99 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.05 บาท และขาดทุนเพิ่มขึ้น 645 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ EBITDA ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 3,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259 ล้านบาท คิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 166 ล้านบาท คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
บริษัทและบริษัทมีรายได้รายได้รวมไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 4,848 ล้านบาท ลดลง 159 ล้านบาท หรือ 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักของบริษัท ยังคงมาจากส่วนงานให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ตทีวี
ขณะที่ รายได้ส่วนงานอื่นและรายได้อื่น (รวมกําไรจากอัตราแลกเปลี่ยน) ลดลง 225 ล้านบาท หรือ -60% จากงวดปีก่อน ขณะที่ต้นทุนขายและบริการเพิ่ม 376 ล้านบาท หรือ 12% จากงวดปีก่อน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% จากงวดปีก่อน
บริษัท 3BB ณ สิ้นไตรมาส 2/64 มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 3.57 ล้านราย เมื่อหักจำนวนผู้ใช้บริการภาคองค์กร ลูกค้า WFH กลุ่ม Barter กลุ่มที่ใช้ในกิจจการภายใน กลุ่มบริการเสริมอื่น และกลุ่มลูกค้าที่มีหนี้ค้างออกเป็นต้น โดยจะมียอดผู้ใช้บริการสำหรับลูกค้าทั่วไปในส่วนที่เป็น Fixed Broadband และที่สามารถเก็บเงินได้ประมาณ 2.38 ล้านราย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อราย หรือ ARPU 598 บาทต่อเดือน
ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 1,175.77 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.14 บาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1,404.20 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.17 บาท
สำหรับสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ระลอก 2 และ 3 ในช่วงปี 2564 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น สถานประกอบการหลายๆ ที่มีนโยบายให้ทํางานแบบ WFH และการเรียนเป็นแบบ Online ทําให้เกิดความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่การเข้าไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตลําบากมากขึ้นเพราะเจ้าของบ้านกังวลเรื่องการแพร่เชื้อจากคนแปลกหน้า ซึ่งบริษัทฯ มีนโยบายป้องกันอย่างเข้มงวดมาตลอดเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับบริการได้อย่างสบายใจ ทําให้จํานวนลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมองหาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากขึ้น จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ดังนี้
1. บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) เข้าซื้อหุ้นในบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จํากัด ทําให้ JTS เป็นบริษัทที่ดําเนินธุรกิจ Hyperscale Data Center และ Cloud Service แบบครบวงจร เพื่อรองรับธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่และเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ในระยะยาว
2. การทํา Partial Business Transfer (PBT) ระหว่างบริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จํากัด (มหาชน) กับ บริษัททริปเปิลทีอินเทอร์เน็ต จํากัด ซึ่งได้ดําเนินการไปตั้งแต 1 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา เพื่อลดความซ้ําซ้อนในการจ่ายค่าธรรมเนียมกสทช.และภาษี ตามนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อยปีละ 200 ล้านบาท