วิกฤตค่าเงินตุรกีฉุดหุ้นเอเชีย บล.เอเซียพลัส ชี้เงินทุนเริ่มไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ที่พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส เชื่อว่า ผลจากวิกฤตค่าเงินตุรกี นอกจากจะทำให้เงินไหลออกจากตุรกีแล้ว การไหลออกของเงินทุนยังลุกลามมายังประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ที่พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เห็นได้จากค่าเงินของประเทศเหล่านี้ อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค
ล่าสุดธนาคารกลางอินโดนีเซีย เรียกประชุมพิเศษ (เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561) พร้อมกับประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ อีก 0.25% เป็น 5.5% เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก เช่นเดียวกับธนาคารกลางอาร์เจนตินา ที่ขึ้นดอกเบี้ย 5% เป็น 45% วานนี้ เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่สูงถึง 31.21% และสกัดกั้นเงินทุนไหลออก
การที่ค่าเงินตุรกียังคงผันผวน รวมทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ช่วงนี้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย กว่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (วันที่ 15 ส.ค. 2561)
โดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการเมื่อวาน แต่ก่อนหน้านี้ต่างชาติขายติดต่อกัน 4 วัน, อินโดนีเซีย ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6, ไต้หวันถูกขายเมื่อวานนี้ หลังซื้อได้เพียงวันเดียว, ฟิลิปปินส์ ถูกขายสุทธิเป็นวันที่ 5 และไทยถูกขายสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน
ไม่เพียงแค่นี้ ต่างชาติยังชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 5 พันสัญญา โดยเป็นการชอร์ตต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 รวมกว่า 2.31 หมื่นสัญญา ขณะเดียวกันต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 1.31 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม Bond Yield 10 ปีของไทย อยู่ที่ 2.72% ยังต่ำกว่า Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯที่ 2.86% จึงเชื่อว่ายังกดดันให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า