HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของคนไทย ยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เสนอขาย IPO จำนวน 109.30 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำต่างประเทศ สร้างรากฐานในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต ตั้ง “บล.บัวหลวง” เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของคนไทย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและเป็นบริษัทแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำของกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจอาหารสัตว์น้ำที่เติบโตตามความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย
TFM มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี สั่งสมองค์ความรู้รวมถึงมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตสินค้า ภายใต้วิสัยทัศน์ของ TFM คือ การเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ที่ผ่านมา TFM จึงมุ่งเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและมีความหลากหลาย ครอบคลุมการเพาะเลี้ยงตลอดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำในราคาที่สามารถแข่งขันได้เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตของลูกค้าเกษตรกรในประเทศไทยและการยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย ภายใต้ระบบการผลิตที่ทันสมัยในโรงงานผลิตที่จังหวัดสมุทรสาครและสงขลา ด้วยกำลังการผลิตรวมในปัจจุบันทั้งหมดที่ 280,000 ตันต่อปี โดยผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าของ TFM ได้รับความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพในระดับสากล
ทั้งนี้ TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์สินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดอาหารกุ้ง ประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณอาหารกุ้งไทย (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง และปลาเก๋า เป็นต้น (2) อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล และปลาดุก (3) อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ (4) อาหารกบ โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารปลากระพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาจำหน่ายและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ มีส่วนแบ่งการตลาดอาหารปลากะพง ประมาณร้อยละ 24 ของปริมาณอาหารปลากระพงไทย (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) อาหารสุกร (2) อาหารสัตว์ปีก ได้แก่ อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารนกกระทา โดยบริษัทฯ ได้เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกในช่วงปลายปี 2561 และปริมาณการขายอาหารสัตว์บกของบริษัทฯ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผลเป็นที่น่าพ่อใจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นนำความเชี่ยวชาญ เทคนิคการผลิต และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทาง เช่น เป็นผู้บุกเบิกการใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปในการเพาะเลี้ยงปลากะพง รวมถึงคิดค้นสูตรการผลิตใหม่ๆ เช่น สูตรการผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ลดปริมาณการใช้ปลาป่นและน้ำมันปลา และสูตรการผลิตอาหารปลาสลิด อาหารปู เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ TFM ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในประเทศไทยเท่านั้น บริษัทฯ ได้มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโต ในขณะที่บริษัทฯ จะสามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและความพร้อมทางด้านบุคลากรและแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ และยังเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชีย โดยเริ่มจากประเทศอินเดีย และขยายไปยังปากีสถานและอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจและรับรู้รายได้ได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และภายในสิ้นปีนี้ ตามลำดับ ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป TFM พร้อมก้าวไปอีกขั้นด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายพิเชษฐ สิทธิอํานวย กรรมการผู้อํานวยการ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จํากัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
ปัจจุบัน TFM มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วทั้งสิ้นจำนวน 820 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 410.0 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90.0 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน 19.3 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 21.9% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด
ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน