KTC ครึ่งปีกำไรสุทธิ 2.5 พันล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 66% มุ่งรักษาพอร์ตลูกหนี้คุณภาพ พร้อมรับทุกสถานการณ์ มั่นใจกำไรทั้งปีสูงกว่าปีก่อนทำไว้ 3.3 พันล้านบาท
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการผลักดันภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศ สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีอัตราเติบโตสูงขึ้น จากลูกหนี้บัตรเครดิตรวมและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น
“ในส่วนของเคทีซีถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกนี้สามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 2,515 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 66% ในขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 1,306 ล้านบาท ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ทวีความเข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากความท้าทายของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และผลกระทบจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว บริษัทฯ จึงต้องปรับปรุงกระบวนการสื่อสารกับผู้บริโภคและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าและเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อรองรับกับความท้าทายของมาตรการและกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้น” นายระเฑียร กล่าว
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 71,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 72,037 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.1 ล้านบัญชี เติบโต 2.8% แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,249,933 บัตร ขยายตัว 3.2% พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 46,251 ล้านบาท สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.6% อัตราเติบโตการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีรวมเท่ากับ 7.7% (อุตสาหกรรมเติบโต 11.9%) ส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.1%
เอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL) รวมของบริษัทยังลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 1.3% จาก 1.6% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1% ลดลงจาก 1.2% (อุตสาหกรรม 1.9%) สินเชื่อบุคคล 867,236 บัญชี ขยายตัว 2.0% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 25,423 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 7.0% และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.8% ลดลงจาก 0.9% (อุตสาหกรรม 2.5%) โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 528%
“ไตรมาสสองของปี 2561 เคทีซีมีอัตราเติบโตของรายได้รวมสูงขึ้น และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวมให้มีอัตราลดลง โดยสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 9% เท่ากับ 5,259 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มจากลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่ยังเติบโตได้ดี (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วน 93% มาจากหนี้สูญได้รับคืน และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3,626 ล้านบาท ลดลง 5% จากค่าใช้จ่ายการตลาดที่ลดลง เพราะอนุมัติสมาชิกใหม่ในจำนวนน้อยลงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และมีการใช้งบประมาณด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเม็ดเงินน้อยลง ในขณะที่มูลค่าหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงเช่นกันเนื่องจากพอร์ตลูกหนี้ที่ขยายตัวได้ช้า ทำให้การตั้งสำรองและค่าใช้จ่ายการเงินที่เป็นต้นทุนเงินก็ลดลง เนื่องจากบริษัทฯ ออกหุ้นกู้ใหม่ในระยะเวลาที่ยาวขึ้นด้วยต้นทุนเงินที่ต่ำลงกว่าหุ้นกู้เดิม โดยรักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) เท่ากับ 26.8% ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 27.3% ซึ่งแสดงว่าบริษัทยังคงรักษาประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานได้ดี”
บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 24,890 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 6,860 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินไตรมาส 2/2561 เท่ากับ 2.99% ลดลง 3.23% หากเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2560 สำหรับครึ่งปีต้นทุนเงินอยู่ที่ 2.97% (สิ้นปี 2560 เท่ากับ 3.12%) เพราะบริษัทฯ จัดหาเงินจากการออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้น แต่มีต้นทุนเงินที่ต่ำกว่าหุ้นกู้เดิม โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 4.24 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
“แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทฯ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านอัตราเติบโตของพอร์ตและการใช้จ่ายผ่านบัตรตามที่ได้ตั้งไว้ จากปัจจัยของภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะเริ่มฟื้นตัว และกฎเกณฑ์การควบคุมที่เป็นความท้าทายสำคัญ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ในหลายแนวทางเพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ โดยในปี 2561 บริษัทฯ ยังคงประมาณการเป้าหมายพอร์ตลูกหนี้รวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเติบโตไว้ที่ 10% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% รักษาสัดส่วน NPL ให้คงอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนที่ 1.3% และคาดว่าจะมีกำไรสูงกว่าปี 2560 ที่มีมูลค่า 3,304 ล้านบาท”นายระเฑียร กล่าว