HoonSmart.com>> ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นออกเกณฑ์รองรับ “กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน” เหตุข้อมูลบลจ.แตกต่างกัน นักลงทุนไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ด้าน “มอร์นิ่งสตาร์ รีสิร์ซ” เผยครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนยั่งยืนไทย 2.4 หมื่นล้านบาท หนุนมูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืนแตะ 5.6 หมื่นล้านบาท “บลจ.กสิกรไทย” ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสด 33% ด้านการลงทุนยั่งยืนสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทั่วไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการในการออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund: SRI Fund) มุ่งพัฒนาเครื่องมือการลงทุนที่ช่วยสร้างความยั่งยืนและสนับสนุนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบันแนวทางการลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งรวมถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ได้แก่ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) มีผู้ลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ผู้จัดการกองทุน (บลจ.) ได้นำปัจจัยดังกล่าวมาผสมผสานการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืนได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเช่นกัน โดย บลจ. มีการจัดตั้งและเสนอขายกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์รองรับด้านการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนรวม ส่งผลให้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของแต่ละ บลจ. มีความแตกต่างกัน ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนรวมที่ลงทุนในลักษณะเดียวกันได้ และอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน
ก.ล.ต. จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการในการออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) โดยข้อมูลที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำมาพิจารณาปรับปรุง และใช้เป็นแนวทางประกอบการออกหลักเกณฑ์รองรับ SRI Fund ต่อไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=729 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: sireetho@sec.or.th nowarat@sec.or.th sasanee@sec.or.th และ pattaraporn@sec.or.th จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564
น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)เปิดเผยว่า การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยจำนวน 48 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.5% จากธ.ค.2563 ในรอบครึ่งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท (ไตรมาสล่าสุดเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านบาท) มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 5 กองทุน รวมครึ่งปีแรกมีกองทุนเปิดใหม่ 20 กองทุน ในจำนวน 48 กองทุนเป็นการลงทุนหุ้นในประเทศ 15 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินราว 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 2.7% ของมูลค่าการลงทุนยั่งยืนทั้งหมด
ปัจจุบัน บลจ. ส่วนใหญ่มีการเปิดขายกองทุนยั่งยืนแล้ว 16 บลจ. จาก 23 บลจ. บลจ.กสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 33.0% ตามมาด้วยบลจ.ธนชาต 22.9% และบลจ.เอ็มเอฟซี 12.2% รวม 3 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาด 68% โดยกองทุนขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกมีกองทุนของทั้ง 3 บลจ.ดังกล่าวดังตารางด้านล่างนี้
ด้านการลงทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ ช่วงไตรมาสล่าสุดสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนทั่วไป โดยดัขนี Morningstar U.S. Sustainability Index ให้ผลตอบแทน 8.8% สูงกว่า Morningstar U.S. Large-Mid Cap Index ที่ 8.5% ในขณะที่ไตรมาสแรกการลงทุนที่ไม่เน้นเรื่อง ESG สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า ESG Index บางตัวได้เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กลุ่มพลังงานมีผลตอบแทน 30% ขึ้นไป ในขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ราว 2% ทำให้ Sustainability Index ที่มีสัดส่วนกลุ่มพลังงานต่ำกว่าอาจสร้างผลตอบแทนได้น้อยกว่า
อย่างไรก็ดีในระยะยาวพบว่า Sustainability Index สร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับการลงทุน broad market