HoonSmart.com>>ธุรกิจประกันชีวิต 5 เดือนแรกของปี 64 เติบโต 3.17% โดยเบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียวเติบโตสูงสุด 40.94% ช่องทางตัวแทนยังคงเป็นหลัก 47.97% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนยังได้รับความนิยมสูงสุดเติบโตสูงถึง 97.52%
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิต 5 เดือนแรก ปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 240,825.51 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.17% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 68,431.61 ล้านบาท เติบโต 10.82% ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 37,784.93 ล้านบาท ลดลง 5.54% เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 30,646.68 ล้านบาท เติบโต 40.94% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 172,393.90 ล้านบาท เติบโต 0.42% อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 81%
ส่วนช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลัก ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 115,529.05 ล้านบาท เติบโต 0.93% มีสัดส่วน 47.97% รองลงมาเป็นการขายผ่านธนาคาร เบี้ยประกันภัยรับรวม 100,906.68 ล้านบาท เติบโต 6.21% มีสัดส่วน 41.90% ตามด้วยช่องทางนายหน้าประกันชีวิต เบี้ยประกันภัยรับรวม 12,008.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% มีสัดส่วน 4.99% ช่องทางอื่นๆเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,165.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.06% มีสัดส่วน 2.56%
ช่องทางโทรศัพท์เบี้ยประกันภัยรับรวม 5,937.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.19% มีสัดส่วน 2.47% ช่องทางดิจิทัลเบี้ยประกันภัยรับรวม 262.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.64% มีสัดส่วน 0.11% และ ช่องทางไปรษณีย์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 16.41 ล้านบาท ลดลง 15.33% มีสัดส่วน 0.01%
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 17,250.63 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 97.52% ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 39,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับน้อยแต่มีเติบโต 7.32%
จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันได้ครบทุกช่วงวัยพร้อมยังให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการฝากเงินธนาคาร ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 8-12% ทุกปี รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ทำให้ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารรายรับรายจ่ายในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุได้เป็นอย่างดี เพื่อสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจะต้องร่วมมือกัน ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญให้สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง