HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 กระทบธุรกิจร้านอาหาร ปีนี้หดตัวลงร้อยละ 17.3 ถึงร้อยละ 13.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 5.5 – 7.0 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิดระลอกนี้ น่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่รายได้หลักมาจากการให้บริการนั่งทานในร้าน (Full Service) เช่น สวนอาหาร ร้านอาหาร Buffet ร้านอาหาร Fine Dinning ซึ่งมีรายได้มากกว่าร้อยละ 70 จากช่องทางดังกล่าวรวมถึงมีข้อจำกัดในการปรับตัว ทำให้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ขณะที่ร้านอาหารกลุ่มอื่น อาทิ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street food) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสูงกว่าน่าจะได้รับผลกระทบลดหลั่นกันลงไปตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 นี้ โดยประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารไว้ 2 กรณี ดังนี้
กรณีพื้นฐาน ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลสามารถกลับมาเปิดให้บริการนั่งในร้านได้ตามปกติ การใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะทยอยกลับมา ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 5.5 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท (-13.5%)
กรณีเลวร้าย ความเสี่ยงการระบาดของโควิดที่อาจจะมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง และยาวนานกว่า 30 วัน ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะคงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคและการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการให้บริการนั่งในร้านจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีความล่าช้าและสร้างผลกระทบในระยะกลางกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหายไป 7.0 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท (-17.3%)
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นและการประกาศยกระดับของมาตรการ ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจร้านอาหาร ทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารในกรณีพื้นฐาน ทั้งปี 2564 อาจเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท ขณะที่ในกรณีเลวร้ายจะลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท นอกจากนี้สถานภาพของผู้ประกอบการที่บอบช้ำอย่างรุนแรง ทำให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า