HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” คงอันดับเครดิต “บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ที่ AAA แนวโน้ม Stable สะท้อนสถานะบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของ DBS Group ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในเอเชีย ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านธุรกิจและการเงินต่อเนื่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ AAA ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ DBS Group ซึ่งมีหน่วยธุรกิจหลักเป็น DBS Bank Ltd. (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ AA-/Stable จาก S&P Global Ratings) และจะยังคงดำเนินงานโดยเป็นส่วนที่สำคัญในธุรกิจหลักทรัพย์ของ DBS Group ในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องต่อไป
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ DBS Group โดยบริษัทเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย DBS Vickers Securities Holding Pte. (DBSVH) ซึ่งให้บริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์ของ DBS Group ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทดำรงสถานะเป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญของ DBS Group ในการให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าในเครือข่ายของกลุ่มและบริษัทในเครือในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งของกลุ่ม บริษัทจึงนำกลยุทธ์และเป้าหมายทางการเงินของ DBS Group มาปรับใช้
ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและกลุ่มสะท้อนให้เห็นจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้าของ DBS Group ที่มีสัดส่วนถึง 75% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของบริษัทในปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังต่อยอดความแข็งแกร่งในธุรกิจธนบดีธนกิจ (Private Banking) ของ DBS Bank เพื่อสร้างประโยชน์ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตที่เข้มแข็งด้วย
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า DBS Group มีข้อผูกพันที่แน่นแฟ้นในการให้การสนับสนุนแก่บริษัทในระยะยาวเนื่องจากการที่กลุ่มเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทและบทบาทของบริษัทในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในเอเชีย นอกจากนี้ บริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและการเงินจาก DBS Group อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากกลุ่มและดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและระบบปฏิบัติการแบบบูรณาการของกลุ่ม ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เห็นว่าชื่อเสียงของบริษัทนั้นมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอย่างแยกไม่ออกเนื่องจากการใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน ในการนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ความเชื่อมโยงระหว่าง DBS Group และบริษัทจะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีสถานะทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจอื่น ๆ ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ในปี 2563 ส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ใน 20 อันดับแรกเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับ 2.8% ลดลงจาก 4.8% ในปีก่อนหน้า บริษัทมีสัดส่วนของลูกค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติคิดเป็นประมาณ 75% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของบริษัทในปี 2563 มูลค่าการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access (DMA) นั้นส่งผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลง
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าผ่านผลิตภัณฑ์ที่กว้างขวางขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าในกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง
การบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกลุ่ม ในฐานะที่เป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งของ DBS Group นโยบายในการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทจึงเป็นไปตามนโยบายของกลุ่มอย่างเคร่งครัด ความเสี่ยงด้านตลาดของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากบริษัทไม่มีนโยบายในการเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม
นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงจากหุ้นกู้อนุพันธ์อีกด้วย และในส่วนของความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น บริษัทยังนำนโยบายการให้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ที่รอบคอบของกลุ่มมาใช้อีกด้วย
นอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก DBS Group อย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มในระดับที่เพียงพอ โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่สามารถเบิกใช้ได้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากกลุ่ม
ทริสเรทติ้งประเมินว่า DBS Group มีความเต็มใจและมีความสามารถในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในยามที่จำเป็น นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่ออีกประมาณ 4.3 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่ง ณ สิ้นเดือนมี.ค.2564 อีกด้วย