HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ ชี้เฟดเล็งลด QE ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนเทขายทำกำไรบางส่วน มองแนวโน้มตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังน่าสนใจ อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ครึ่งปีหลัง เดินหน้าจ่ายเงินปันผล 4 กองทุนต่างประเทศ 22 มิ.ย. นี้ SCBS&P500, SCBS&P500-SSF, SCBEMEQ และ SCBBLN
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศรวม 4 กองทุน ประกอบด้วยกองทุน Super Savings (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) จำนวน 1 กองทุน และกองทุนหุ้นต่างประเทศ 3 กองทุน รวมมูลค่ากว่า 107 ล้านบาท โดยจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกันในวันที่ 22 มิถุนายน 2564 นี้ แบ่งเป็นสำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จำนวน 3 กองทุน ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (ชนิดเพื่อการออม) (SCBS&P500-SSF) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2401 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.3613 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 16 รวมจ่ายปันผล 4.3924 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 18 ธันวาคม 2555) โดยทั้ง 2 กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุน SPDR S&P 500 ETF Trust บริหารจัดการโดย State Street Global Advisors ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบ passive มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P500 และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นตลาดเกิดใหม่ (SCBEMEQ) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.2149 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 รวมจ่ายปันผล 0.6189 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 18 ธันวาคม 2555) กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุน Fidelity Funds – Emerging Markets Focus Fund บริหารจัดการโดย FIL Investment Management (Luxembourg) S.A. โดยกองทุนหลักมีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียน มีสำนักงานใหญ่ หรือมีการประกอบธุรกิจหลักในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่า และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
กองทุนต่างประเทศอีก 1 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2563 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.7899 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ไปแล้วจำนวน 0.3768 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.4131 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 10 รวมจ่ายปันผล 1.7378 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 24 ก.ค. 2558)
นอกจากนี้ กองทุน SCBBLN ยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund US Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564) มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Solactive US Top Billionaire Investors
นางนันท์มนัส กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เริ่มคลี่คลายลง และมีการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปในอัตราที่สูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ส่งผลให้เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
นอกจากนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาด โดยนโยบายส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน และประคับประคองผู้ประกอบการ อีกทั้งการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ และเข้าซื้อสินทรัพย์ในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องยังเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงินเป็นจำนวนมาก และสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวได้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นที่สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้
ทั้งนี้ การฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่กำลังถูกพิจารณาเป็นปัจจัยให้คณะกรรมการนโยบายการเงินเริ่มพิจารณาการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper)และโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น กดดัน Valuation ของตลาดหุ้น และอาจทำให้มีการขายทำกำไรออกมาบางส่วน
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดได้เผชิญกับความผันผวนและไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยลบหลักมาจากความกังวลเรื่องเงินอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะกระทบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในภูมิภาค นอกจากนั้นแนวโน้มการระบาดของไวรัส covid-19 ที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากหลายประเทศต่างเริ่มลดมาตรการณ์ควบคุมการระบาด โดยเฉพาะในเอเชียก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจลดลง
อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ก็ยังคงมีความน่าสนใจจากการที่เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากรัฐบาลในหลายประเทศที่ให้ความสนใจและความสำคัญกับแผนการกระจายวัคซีนป้องกันไวรัส covid-19 อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศรวมถึงการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักและผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป