HoonSmart.com>> “อินโดรามา เวนเจอร์ส” เจรจาพิเศษกับ Ultrapar ในประเทศบราซิล ซื้อบริษัทย่อย Oxiteno ผู้ผลิตสารลดแรงตึงผิวแบบบูรณาการในทวีปอเมริกาและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา หนุน IVL สู่ผู้นำตลาดผลิตสารอีทอกซิเลท รายใหญ่สุดในทวีปอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ด้านบล.ไทยพาณิชย์ คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้า 48 บาท บล.กรุงศรีเผยนักลงทุนกังวลบริษัทจะต้องเพิ่มทุน
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เปิดเผยว่า ได้ร่วมเจรจาพิเศษกับบริษัท Ultrapar Participações S.A. ถึงความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อบริษัท Oxiteno S.A. Indústria e Comércio ในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Ultrapar
Oxiteno เป็นผู้ผลิตสารลดแรงตึงผิวแบบบูรณาการในทวีปอเมริกาและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งมีความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจออกไซด์และอนุพันธ์แบบบูรณาการ (Integrated Oxides and Derivatives หรือ IOD) ของบริษัท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างสารลดแรงตึงผิว หากลงทุนในกิจการดังกล่าว บริษัทจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มนวัตกรรมสำหรับเทคโนโลยีและตลาดผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และเสริมความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรม การรวมธุรกิจจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำตลาด และกลายเป็นผู้ผลิตสารอีทอกซิเลท (ethoxylates) รายใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ธุรกิจ IOD ของบริษัทและธุรกิจ Oxiteno ต่างมีรากฐานจากธุรกิจครอบครัวด้วยแนวคิดผู้ประกอบการที่คล้ายกัน และยังมีความเชื่อร่วมกันว่า บุคลากรและสินทรัพย์ที่มีความสามารถทางการแข่งขันเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการของทั้งสองบริษัทเข้ากันได้ดี และดำเนินงานโดยยึดถือปรัชญาที่คล้ายกัน ทั้งยังสามารถยกระดับการทำงานได้ด้วยความสามารถที่ต่างฝ่ายต่างจะนำมาใช้การบริหารธุรกิจ
การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยเร่งศักยภาพที่มีคุณค่าของธุรกิจ IOD อย่างเต็มที่ โดยสามารถนำผลิตภัณฑ์สารลดแรงตึงผิวเข้าสู่ตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทันที ด้านการผลิตของโรงงาน Oxiteno ในเมืองแพซาดีนา รัฐเท็กซัส ทั้งนี้ แผนงานเดิมของบริษัทในชื่อ Project Prosperity ที่จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตสารลดแรงตึงผิวชนิดพิเศษมูลค่า 225 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกแทนที่ด้วยโรงงานของ Oxiteno ในเมืองแพซาดีนาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีตามแผนที่วางไว้
ผลิตภัณฑ์สารลดแรงตึงผิวของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสำหรับกลุ่มธุรกิจ IOD ในปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ท้าทาย และยังคงแสดงผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยทั้งสองบริษัทมี adjusted EBITDA margin ที่ใกล้เคียงกันในปี 2563 ธุรกิจสารลดแรงตึงผิวมี adjusted EBITDA margin ต่ำกว่า 20% เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ธุรกิจของ Oxiteno ในภูมิภาคละตินอเมริกามี adjusted EBITDA margin เกิน 20% ในปี 2563
คณะกรรมการบริษัทฯได้พิจารณาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (net debt-to-equity ratio) อย่างรอบคอบที่ประมาณ 1.5 เท่า และตั้งเป้ากลับมาที่ 1 เท่าในระยะกลาง เป้าหมายคือการมีงบดุลที่แข็งแกร่งซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เติบโตอย่างยั่งยืน ธุรกรรมต่อ Oxiteno จะได้รับการจัดสรรเงินทุน หากรายการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจาต่อรองกับ Ultrapar และหวังว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จ ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ยังคงเรทติ้งเท่ากับตลาดสำหรับ IVL ด้วยราคาเป้าหมาย 48 บาท/หุ้น โดยมองกรณีการเจราซื้อธุรกิจในบราซิลนั้น มองว่าตลาดมีความกังวลมากเกินไป และเร็วเกินไปที่จะประเมินต้นทุนและผลประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้ (ถ้าเกิดขึ้น) ยังคงเชื่อว่าฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง สภาพคล่อง (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1/64 และผลงานที่พิสูจน์แล้วในการเข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ ในราคาต่ำกว่ามูลค่าตลาด น่าจะช่วยรับประกันผลตอบแทนในระยะยาวของนักลงทุนพร้อมกับต้นทุนทางการเงินที่แข่งขันได้
นอกจากนี้สินทรัพย์ของ Oxiteno (อนุพันธ์ EO/PO และสารลดแรงตึงผิว) ยังจะช่วยส่งเสริมแผนเติบโตในระยะยาวของ IVL สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงในประเทศที่มีความต้องการสูง ซึ่งในกรณีนี้คือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
“เราเชื่อว่าข่าวนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่สร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้น IVL เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งปรับตัวลดลง 5.1% ปิดที่ 41.25 บาท/หุ้น โดยนับเป็นการลดลงใน 1 วันแรงที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 2563 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนครั้งนี้สร้างเซอร์ไพร้ส์ต่อตลาด เนื่องจากบริษัทได้แสดงความเจตจำนงค์ไว้ว่าจะชะลอการลงทุนขนาดใหญ่ หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ Huntsman เมื่อช่วงต้นปี 2563 และจะลดภาระหนี้สินของบริษัทลง”บล.ไทยพาณิชย์ ระบุ
ทั้งนี้จากข้อมูลใน MD&A ล่าสุด งบลงทุนที่บริษัทวางแผนไว้อยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปี 2564-2566 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการ Corpus Christi PET/PTA และโครงการรีไซเคิล เพื่อให้มีกำลังการผลิตถึง 7.5 แสนตันต่อปีภายในปี 2566
ด้านบล.กรุงศรี มองนักลงทุนกังวล IVL จะต้องเพิ่มทุน ปัจจุบันมี net D/E ที่ 1.3 เท่า ระดับเดียวกับที่เพิ่มทุนในก.ค.2557 หากใช้สมมติฐานว่า ใช้เงินทุนส่วนของผู้ถือหุ้นในการเข้าซื้อ 50% ที่ส่วนลด 15% (35 บาท ต่อหุ้น) จากราคาปิดวันที่ 17 มิ.ย. จะทำให้เกิดการไดลูท 11% และทำให้ net D/E ลดลงสู่ 1.1 เท่า ณ สิ้นปี 2564 การเข้าซื้อกิจการครั้งจะเพิ่ม กำไรของ IVL ขึ้น 10% ใกล้เคียงการไดลูท ประเด็นนี้จะกดดันราคาหุ้น
อย่างไรก็ตามยังคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 60.00 บาท (upside 45.50%)