HoonSmart.com>> บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งมองเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด กดดันสินทรัพย์เสี่ยง เป็นโอกาสหุ้นกลุ่มส่งออก อิเล็กฯ-อาหาร พลังงาน อสังหาฯ แบงก์ ประกัน ส่วนราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นกดดันหุ้นปิโตรเคมี บล.ทรีนีตี้คาดหุ้นลงต่อ แนะรอซื้อดัชนีต่ำกว่า 1,600 จุด ชู BLA เด่นตรงใจเอเซียพลัส ราคาทองในประเทศปรับ 7 ครั้ง ร่วง 550 บาท วายแอลจีชวนเก็บต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ
หุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลงหลังจากเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด กดดันดาวโจนส์ล่วงหน้าลงต่อประมาณ 100 จุด ทำให้ตลาดหุ้นภูมิภาคเกือบทุกแห่งลดลง ส่วนหุ้นไทยเปิดตลาดสดใส ความหวังเปิดเมืองภายใน 120 วัน แต่สวนทางโลกไม่ไหว สุดท้ายดัชนีปิดที่ระดับ 1,617.65 จุด -7.14 จุด หรือ -0.44% มูลค่าการซื้อขาย 88,017.63 ล้านบาท
ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,887.82 ล้านบาท สถาบันไทยขาย 191 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนไทยซื้อมากถึง 2,696.95 ล้านบาท เน้นหุ้นจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง
นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อ 15-16 มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่มีบทสรุปจุดเริ่มต้นการไถ่ถอนคิวอีอย่างเป็นทางการ แต่สัญญาณจาก Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ภายในปี 2566 เร็วขึ้นจากประมาณการณ์ในครั้งก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดัน sentiment การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ตามในความผันผวนก็เป็นโอกาสสำหรับหุ้นบางกลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มส่งออก อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นเร็วกว่าคาดเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ ในทางกลับกันก็กดดันเงินค่าเงินบาท ได้แก่ HANA แนวโน้มกำไรเด่น จากอุปสงค์ที่ยังแข็งแรงและการขยายกำลังผลิตใหม่, KCE แนวโน้มกำไรขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ คำสั่งซื้อที่ยังแน่นถึงครึ่งปีหลัง และพัฒนาการขยายกำลังผลิตลูกค้าใหม่, TU อาหารทะเลแช่แข็งฟื้นตัวตามการเปิดเมือง เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ความต้องการโตทั้งในประเทศและส่งออก
2.กลุ่มพลังงาน การเร่งตัวของเงินเฟ้อ เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด เป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ PTTEP, TOP, SPRC
3.พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดอกเบี้ยขาขึ้นมาเร็วกว่าคาด จะกระตุ้นความต้องการซื้ออสังหาฯให้เร่งตัวก่อนดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นตาม แนะนำ AP มีสินค้าที่รองรับความต้องการได้เพียงพอ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงตรึ่งปีหลังสูงที่สุดกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท, SC เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งกำลังซื้อโดนผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด
4.ธนาคาร/ประกันได้ประโยชน์โดยตรงจากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ KBANK แรงกดดันจาก NIM ที่ต่ำมาเป็นระยะเวลานานจะค่อยๆผ่อนคลายลง อีกทั้งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการฟื้นตัวของกลุ่ม SMEs ไทย หลังวิกฤตโควิด, BKI ได้อานิสงส์บวกในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุน และความเสี่ยงการลงทุนต่อลดลง
สำหรับประเด็นสำคัญ การแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เรื่องการส่งสัญญาณเปิดประเทศใน 120 วัน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และยืนยันการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมในประชุม ศบค. ชุดใหญ่ตั้งแต่ศุกร์นี้เป็นต้นไป เป็นบวกต่อกลุ่มภาคบริการ ได้แก่ CENTEL, CPN, AU, MAJOR และ AOT
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฟดยังคงมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินในวงเงินเท่าเดิมอยู่ที่ 120,000 ล้านเหรียญต่อเดือน ประเมินว่าการประชุมในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้คาดว่าประธานเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณการปรับลดวงเงิน QE อย่างค่อยเป็นค่อยไป
“หุ้นระยะสั้น ยังได้รับแรงกดดันจากผลการประชุมเฟดอยู่ รอบนี้มีโอกาสหลุด 1,600 จุด แต่ก็เป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นเช่นกัน แต่ยังไม่แนะนำเข้าลงทุนกลุ่มปิโตรเคมี เพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์แคบลง”นายวิจิตรกล่าว
ส่วนแนวโน้มตลาดวันที่18 มิ.ย. 2564 คาดว่ายังมีโอกาสปรับลงไปอีก 1-2 วัน หรือแกว่งตัวสร้างฐานใหม่ มองกรอบเคลื่อนไหวไว้ที่ 1,605-1,630 จุด กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์การเปิดเมือง MAJOR และ CPN หุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักร แนะนำ SPRC และPTTEP และหุ้นที่สกัดกัญชง แนะนำ GUNKUL และ KWM จากการที่จะมีผลความคืบหน้าใบอนุญาตในเร็วๆนี้
บล.ทรีนีตี้กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ยังไม่แนะนำให้เพิ่มการลงทุนใหม่ จนกว่าดัชนีจะปรับลงไปมีระดับที่น่าสนใจอีกครั้ง เช่น ต่ำกว่า 1,600 จุด เพราะส่วนต่างระหว่าง Nominal yield และเงินเฟ้อ หรือ Real bond yield ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับสูงสุด ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มทำให้เกิดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ในระยะสั้นได้ รวมถึงการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ไทยที่น่าจะขยับขึ้นล้อไปตามบอนด์ยีลด์ สหรัฐฯด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มประกันที่แนะนำให้ซื้อ BLA
บล.เอเซียพลัส แนะให้ปรับพอร์ตเปลี่ยนหุ้น KBANK เป็น BLA จากความเชื่อว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับเป็นขาขึ้นดีต่อผลประกอบการประกันชีวิต และแนะนำหุ้น AOT,TFG
ด้านราคาทอง ก็ได้รับผลกระทบจากมติของเฟด โดยสมาคมค้าทองคำมีการปรับเปลี่ยนราคาซื้อขายในประเทศถึง 7 ครั้ง โดยรวมลดลงบาทละ 550 บาท หลังจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าลดลงจาก 1,823 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลงมามาอยู่บริเวณ 1,807 ดอลลาร์สหรัฐ
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส (YLG) กล่าวว่า สัญญาณเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยและคิวอีของเฟดส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำต่อเนื่องจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดราคาลดลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 1,804 ดอลลาร์สหรัฐ แม้เริ่มมีแรงซื้อกลับ แต่ยังไม่สามารถกลับขึ้นยืนเหนือ 1,870-1,860 ดอลลาร์สหรัฐได้ จึงยังมีแนวโน้มปรับลดลงอีกครั้ง แต่มีโอกาสดีดกลับเป็นระยะ มีช่องในการเก็งกำไรระยะสั้น
“หากทองคำดีดกลับไปที่แนวต้านแรกบริเวณ 1,830-1,843 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 27,200-27,300 บาท แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาก่อน จนกว่าราคาจะดีดแรงจนผ่าน 1,870-1,860 ดอลลาร์สหรัฐ ไปได้ทิศทางถึงจะสดใสขึ้น ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อให้รอยังหวะย่อตัวเท่านั้น โดยจับตาบริเวณ 1,804-1,795 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 26,700 บาท หากหลุดแนวดังกล่าว แนะนำรอดูการตั้งฐานของราคาแล้วค่อยเข้าซื้ออีกครั้งบริเวณแนวรับถัดไปที่ 1,781-1,767 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 26,350-26,150 บาท” นางสาวฐิภากล่าว