‘แบงก์-พลังงาน’กดหุ้นจ่อ1600 จุด คุมดอกเบี้ยกู้ เช่าซื้อ-บัตรเครดิตอ่วม

HoonSmart.com>> แบงก์-เช่าซื้อร่วง เซ่นพิษนโยบาย นายกฯ สั่งธปท.ทบทวนดอกเบี้ยเงินกู้และสินเชื่อช่วยประชาชน บล.เอเซีย พลัส ประเมินกระทบต่อกลุ่มธนาคารจำกัด พุ่งเป้าสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก KTB จุก พอร์ตใหญ่สุด มองเป็นโอกาสสะสม ส่วนกลุ่มเช่าซื้อ หากลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล TIDLOR เจ็บหนักสุด กรณียีลด์ลด 1% กระทบกำไรสุทธิ 18.3% บล.เมย์แบงก์ฯ มองจังหวะซื้อ KBANK และหุ้นเปิดเมือง CPN-CENTEL หยวนต้าแนะนำ CPN-CPALL-CRC-MBK

ตลาดหุ้นวันที่ 15 มิ.ย. ดัชนีดิ่งลงแรงปิดที่ 1,622.31 จุด ร่วงลง 10.75 จุด หรือ -0.66% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 90,036.99 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายถึง 1,963.57 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนไทยซื้อ 2,363.17 ล้านบาท

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรง รับผลกระทบจากนายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับหลายหน่วยงาน สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เช่น ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน ทำให้กลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ไหลลงแรง นำโดยแบงก์ใหญ่ KBANK และ TISCO กดดันดัชนีกลุ่มปิดที่ 368.68 จุด ร่วง 6.28 จุดหรือ -1.67%ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  10,958.52 ล้านบาท รวมถึงดัชนีกลุ่มพลังงานปิดที่ 24,280.55 จุด  -245.16  จุดหรือ-1.00% มูลค่าการซื้อขาย 14,548 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างประเทศเข้ามากดดัน ตลาดรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้ว่านักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปก็ตาม ขณะเดียวกันตลาดยังกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรง

แนวโน้มวันที่ 16 มิ.ย. หากตลาดปรับตัวขึ้นไม่ไหว หลังจากดัชนีหลุดแนวรับที่ 1,625 จุดไปแล้ว ก็มีโอกาสลงไปทดสอบแถว 1,600 จุด ท่ามกลางตลาดมีการขายทำกำไรจากราคาปรับตัวขึ้นมามาก  แถมยังขาดข่าวดี มีปัจจัยลบการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ชะลอ  กลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์  ยังคงมีปัจจัยลบรบกวนการลงทุนต่อไป เพราะยังไม่มีความชัดเจน

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) ออกบทวิเคราะห์กรณีนายกรัฐมนตรีให้ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก โดยปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 16%, สินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียน 24%

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและบุคคลมากสุด นำโดย KTB ราว 24% ของพอร์ตสินเชื่อ (บัตรเครดิตและสินเชื่อในกลุ่มข้าราชการ) ตามด้วย TISCO ในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนประมาณ 15% ของพอร์สินเชื่อ และ BAY ราว 10% ของพอร์ตสินเชื่อ

ในกรณีที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก เพราะธนาคารส่วนใหญ่เก็บในอัตราเดียวกับเพดาน แต่เนื่องจากการเก็บอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะคิดเฉพาะลูกค้าที่จ่ายขั้นต่ำ จึงมองผลกระทบส่วนนี้จำกัด ขณะที่กลุ่มจำนำทะเบียนรถ อย่าง TISCO  คิดอัตราดอกเบี้ยราว 14% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ

ภาพรวมยังมองผลต่อประมาณการกลุ่มฯ จำกัด โดยประมาณการปี 2564 – 2565 ให้น้ำหนักไปที่ Credit Cost และคุณภาพสินทรัพย์เป็นหลัก อีกทั้งมองว่าโอกาสในการเกิดยังต้องติดตาม เหตุเพราะทาง ธปท. มีการกำหนดอัตราเพดานขั้นต่ำในกลุ่มสินเชื่อข้างต้น ช่วงก.ค. 2563 การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน อาจส่งผลให้ผลตอบแทนของธนาคารเมื่อเทียบกับความเสี่ยงไม่คุ้ม และนำไปสู่การที่ธนาคารคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งไม่น่าดีต่อประชาชน

บล.เอเซีย พลัส คงน้ำหนัก เท่าตลาด เลือก BBL ราคาเหมาะสม 154 บาท , KBANK ราคาเหมาะสม 155 บาท และ TISCO ราคาเหมาะสม 102 บาท มองราคาหุ้นในกลุ่มฯ มีโอกาสได้รับ Sentiment ลบช่วงสั้น แต่มองเป็นโอกาสสะสม ให้น้ำหนักไปกับการกระจายวัคซีนนำไปสู่การเดินเครื่องทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หนุนรายได้ลูกหนี้และลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ มากกว่า

ส่วนกลุ่มเช่าซื้อยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลครั้งก่อน ตั้งแต่วันที่  1 ส.ค. 2563  เช่นปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเหลือ 25% (เดิม 28%) เพดานอัตราสินเชื่อจำนำทะเบียนปรับลดลงเหลือ 24% (เดิม 28%) และปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 16% (เดิม 18%) แม้ส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว แต่หากธปท.มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเช่าซื้อบ้าง โดยทุกๆ การปรับลด Yields ลง 1% จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของ TIDLOR ลดลง 18.3% MTC ลง 12.8% AEONTS ลง 9.2% และ SAWAD ลง 7.0%

ทั้งนี้ หากไปดูกำไรสุทธิปี 2563 ของผู้ให้บริการสินเชื่อ (MTC,SAWAD และ TIDLOR) พบว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง จากสินเชื่อสุทธิที่เติบโตต่อเนื่อง หักล้างผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลตั้งแต่ส.ค. 63 ไปได้ มีเพียง AEONTS ที่กำไรสุทธิปี 2563 อ่อนตัวลง 7.2% จากผลกระทบของการระบาดของโควิด

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่านโยบายของนายกฯส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มแบงก์ใหญ่ และกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อในภาพรวมทั้งหมด แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังเป็นการศึกษาแนวทาง  แต่ก็ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มการเงินลดลง จากการที่เป็น Sentiment เชิงลบในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม มองเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นธนาคารที่ปรับลดลงมาในช่วงนี้ แนะนำ KBANK เนื่องจากมีพอร์ตสินเชื่อเกี่ยวกับ SMEs และภาคท่องเที่ยวมาก  หากการเปิดประเทศยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง  นอกจากนี้แนะนำ CPN และCENTEL  จากการเปิดประเทศ ส่วนหุ้นที่โดดเด่นในด้านของผลประกอบการ แนะนำกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ ได้แก่ HANA , SMT และWICE

ด้านนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการของภาครัฐที่จะออกมา ยังไม่ชัดเจน แต่มองว่าไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินหรือที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ก็มีการช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว

ส่วนผลประชุมของเฟด ยังจะไม่สัญญาณอะไรในรอบนี้ แต่อาจจะมีแรงขาย Sell on Fact ออกมาบ้าง  มองว่าเป็นโอกาสซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงมา โดยยังแนะนำหุ้นการเปิดเมือง CPN , CPALL ,CRC และ MBK