SCBAM : “ตัวเลข Composite PMI สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นตัว”

• ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้กับประชาชนถึง 49.36% และ 36.35% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทยฉีดไปแล้ว 11.32%, 7.86%, 6.01% และ 3.17% ตามลำดับ เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการตามปกติได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นของเงินเฟ้อของเดือนเม.ย. ที่สูงกว่าตลาดคาดและเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีแนวโน้มปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

• ตัวเลขดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน พ.ค. ประเทศหลักส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีรวม (Composite PMI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น +4.6 จุด เป็น 68.1 จุด ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น +5.4 จุด เป็น 70.1 จุด ขณะเดียวกันดัชนีรวมยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.1 จุด เป็น 56.9 จุด จากอุปสงค์ของผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีรวมญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง -2.9 จุด เป็น 48.1 จุด จากภาคบริการและภาคการผลิตปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เร่งตัวขึ้นนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

• ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และผลจากการแจกจ่ายวัคซีนที่คืบหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจบริการต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติ ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. ลดลง 380,000 ราย เป็น 406,000 แสนราย ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในกลางเดือน มี.ค. 2563

• ตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนเม.ย. ปรับตัวดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน เม.ย. ระบุว่าการส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้น +4.6% เป็นระดับ 13.1%YoY จากการขยายตัวของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ขยายตัวดีขึ้น

• ญี่ปุ่นเตรียมพิจารณายืดอายุการใช้มาตรการฉุกเฉิน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเพื่อเป็นการควบคุมการระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมที่จะขยายเวลาจากปลายเดือน พ.ค. นี้ ออกไปจนถึง 20 มิ.ย. โดยมาตรการฉุกเฉินจะครอบคลุมพื้นที่จังหวัด Tokyo และอีก 8 จังหวัดอื่น

กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดตราสารทุน

ตลาดหุ้นไทย : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นเกาหลี : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นจีน : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน A-Shares” และ “คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นจีน H-Shares”
ตลาดหุ้นยุโรป : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”

ตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ไทย : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตราสารหนี้ต่างประเทศ : คำแนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน ใน SCBUSHY” และ แนะนำลงทุนใน SCBFIN

สินทรัพย์ทางเลือก
ทองคำ : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน”
น้ำมัน : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุนใน SCBPIN”