HoonSmart.com>> “อีสท์ วอเตอร์” ไตรมาสแรกปี 64 กำไรสุทธิ 370.68 ล้านบาท จำหน่ายน้ำดิบเพิ่มสูงขึ้น คุมต้นทุนลดลง ประเมินธุรกิจเติบโต ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว รัฐผลักดัน พื้นที่ EEC เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำและสร้างโอกาสในธุรกิจน้ำครบวงจรอย่างต่อเนื่อง
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2564 รายได้จากการขายและบริการรวมทั้งสิ้น 1,230.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.90 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 6.39% โดยหลักจากปริมาณน้ำดิบจำหน่ายกลุ่มอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 370.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.19 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 17.87%
บริษัทฯ มีรายได้จากการขายน้ำดิบ จำนวน 794.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.84 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 11.80% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 โดยรายได้น้ำดิบเพิ่มขึ้น จากการใช้น้ำดิบเพิ่มสูงขึ้นจากลูกค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้นจากปีก่อนรวม 6.70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เพิ่มขึ้น 10.33% โดยสามารถแยกกลุ่มลูกค้าเป็นนิคมอุตสาหกรรม 59% กลุ่มอุปโภคบริโภค 28% กลุ่มสวนอุตสาหกรรม 2% กลุ่มกิจการประปาของกลุ่มบริษัท 9% กลุ่มโรงงานทั่วไป 2%
ส่วนรายได้จากการขายน้ำประปา มีจำนวน 361.77 ล้านบาท ลดลง 11.72 ล้านบาท หรือ ลดลง 3.14% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ในขณะที่ปริมาณน้ำประปาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 0.46 ล้าน ลบ.ม. หรือ เพิ่มขึ้น 1.90% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 สาเหตุหลักจากราคาจำหน่ายน้ำประปาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายน้ำอุตสาหกรรม จำนวน 4.46 ล้านบาท โดยมีปริมาณน้ำอุตสาหกรรมจำหน่าย รวม 0.28 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากมองทิศทางและแนวโน้มอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำดิบของอีสท์ วอเตอร์ มีโอกาสเติบโตจากปัจจัยหลักการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้พื้นที่จังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยการจัดตั้งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเมื่อพิจารณาศักยภาพของธุรกิจน้ำดิบถือว่ามีความพร้อมสูง ทั้งด้านการลงทุน ด้านเสถียรภาพแหล่งน้ำ และระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบ
ในด้านสถานการณ์น้ำพบว่าแหล่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์ในพื้นที่ชลบุรีและระยองอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักส่วนใหญ่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังปี 2563 เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากพายุที่พัดผ่านในพื้นที่ประเทศไทยจึงทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้จากการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปริมาณฝนรวมในภาคตะวันออกเดือนพ.ค.- มิ.ย. จะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติประมาณ 5%-10% ส่วนเดือนก.ค.จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ 5% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของบริษัทในพื้นที่ชลบุรีและระยองเฉลี่ยอยู่ที่ 47% และ 61% ของความจุอ่างเก็บน้ำตามลำดับ
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนและผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องทั่วโลก ยังคงมีปัจจัยบวกจากการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอีสท์ วอเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านการให้บริการน้ำครบวงจร ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำให้แก่ EEC จึงมั่นใจได้ว่าอีสท์ วอเตอร์จะยังคงเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำรองรับการเติบโตทั้งในปัจจุบันและอนาคต