HoonSmart.com>>ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจอเต็มเปาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวมาข้ามปีแล้ว และยังต้องต่อสู้กันต่อไป โดยไม่มีใครรู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน ภาพธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ทุกบริษัทต้องดิ้นปรับตัว “คิดใหม่ ทำใหม่” โมเดลแบบเดิมๆ หมุนเงินให้เร็วขึ้นใช้ไม่ได้ผลแล้ว จะต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ ล่าสุด “แสนสิริ” ประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เข้าไปถือหุ้น 15% ใหญ่อันดับหนึ่งของ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล XSpring หรือ XPG ชื่อเดิม ซีมิโก้ ที่มี “ระเฑียร ศรีมงคล” เป็นประธานกรรมการบริษัท
“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า แสนสิริเป็นผู้นำ และเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรรายเดียวของประเทศที่มียอดขายมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ก้าวสำคัญต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากว่า 36 ปี ลงทุนใน บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล กลุ่มธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่เชื่อมโลกการเงินปัจจุบันกับโลกการเงินดิจิทัลหรือ Digital Financial Service เข้าไว้ด้วยกันรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
“แสนสิริ เห็นโอกาสและเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จึงได้เข้าลงทุนใน XSpring ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเติบโตของรายได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงทางการเงินและการดำเนินธุรกิจที่ดีอยู่แล้วให้แข็งแรงยิ่งขึ้น”
อีกเหตุผลหนึ่งที่เข้ามาลงทุนครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของ XSpring ภายใต้การนำทีมของ คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการ และ คุณวันจักร์ บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกอบกับการมีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Digital Financial Service ในด้านบริการซื้อขาย โทเคนดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านบริษัทเอสอี ดิจิทัล ในฐานะ ICO Portal ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุน ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว ทำให้ XSpring สามารถเดินหน้าออกโทเคนดิจิทัลที่มีสินทรัพย์เป็นหลักค้ำประกันเป็นรายแรกในประเทศไทยเร็วๆนี้
“วรางคณา อัครสถาพร” ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน SIRI เปิดเผยว่า แสนสิริยังเห็นโอกาสจากธุรกิจอื่นๆของ XSpring ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบันและนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อาทิ การทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยการประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จากสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางสูง อาจทำให้มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก
“แสนสิริ” ที่เคยเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบีทีเอสฯมานานหลายปี ร่วมกันลงทุนเปิดโครงการและขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีนและฮ่องกงที่คุณคีรี กาญจพาสน์ มีคอนเนคชั่นอยู่ ได้เริ่มลดความสัมพันธ์ลง มีการทยอยขายบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กับบริษัท ยู ซิตี้(U)ของกลุ่มบีทีเอสออกมา
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบีทีเอส ได้ผูกมิตรใหม่กับ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ที่เร่งการเติบโต เพื่อผงาดเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยติดอันดับ TOP 5 ภายใน 3 ปีข้างหน้า สบโอกาสที่บริษัท ยู ซิตี้ทยอยขายทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศในราคาต่ำ NOBLE เพิ่มใส่เงินเข้ามาพัฒนาโครงการต่อ คาดว่าจะสร้างรายได้ที่ดีในปี 2564 และปีต่อๆ ไป
ขณะเดียวกัน NOBLE ก็เปิดโมเดลใหม่ ใส่เงินจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อเข้าไปลงทุน 15% ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอส ดับบลิว พี ของกลุ่ม บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ซึ่งบุกธุรกิจประมูลซื้อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) และสินทรัพย์รอการขาย(NPA) มานานหลายปี ไม่ต้องการซื้อมาขายไปเหมือนที่ผ่านมา โนเบิลฯสามารถนำไปบริหารเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินได้อีกมาก และเมื่อถึงเวลาก็พร้อมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคต
ขณะเดียวกันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ NOBLE ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว “ธงชัย บุศราพันธ์” รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กล่าวว่า ไตรมาส 1/2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 484 ล้านบาท เติบโต 18 % และมียอดขายรวม 2,568 ล้านบาท ดัน Backlog แตะ 12,884 ล้านบาท สามารถทยอยรับรู้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ส่วนในไตรมาส 2 เตรียมเปิดคอนโดมิเนียมเพิ่ม หนุนยอดขายทั้งปีแตะ 16,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ประกาศความร่วมมือกับ Bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เปิดช่องซื้อบ้าน และคอนโดมิเนียมทุกโครงการผ่านคริปโตเคอเรนซีแทนเงินสดได้แล้ว ผ่าน Wallet ของ Bitkub เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
อย่างไรก็ตาม ผลงานไตรมาส 1/2564 ของ ANAN มีกำไรสุทธิเพียง 5.54 ล้านบาท ทรุดลงถึง 96% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 150 ล้านบาท โดยมีกำไรจากธุรกิจหลัก จำนวน 38.8 ล้านบาท ลดลง 336.2 ล้านบาทหรือ 89.7% สาเหตุหลักมาจากไตรมาส 1/2563 มีการบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย คือ บริษัทพีระ เซอร์กิต วัน และบริษัท พีระ คาร์ท จำนวน 356.5 ล้านบาท สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดสัดสวนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก
ขณะที่ภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ พบว่าบริษัทหลายแห่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาส 1/2563 แม้ในช่วง 2เดือนแรกยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 1,403 ล้านบาท พุ่งขึ้น 127% เทียบกับจำนวน 618 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากการขายมาอยู่ที่ 8,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เนื่องจากผลงานที่ดีเยี่ยมของสินค้าแนวราบ รวมถึงรายได้ค่าบริการและค่าบริหารจัดการอีกจำนวน 227 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าแนวราบพุ่งสูงสุดอีกครั้งที่ 8,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82.6% หลังจากทำสถิติสูงสุดไปแล้ว 2 ครั้งในปีก่อนหน้า ความสำเร็จจากการโอนกรรมสิทธิสินค้าแนวราบมาจากยอดขายรอรับรู้รายได้ปริมาณมากที่ยกมาจากปี 2563 ประกอบกับยอดขายระหว่างไตรมาสที่โดดเด่นจาก 100 โครงการที่อยู่ระหว่างการขาย รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 32.6% เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ระดับ 31.7% แต่ลดลง 1.9% จากไตรมาส 1/2563
“AP เริ่มต้นปีด้วยผลงานที่โดดเด่น รายได้รวมและกำไรสุทธิพุ่งสูงเป็นอันดับที่สองในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท แซงหน้าบริษัทอสังหาฯชั้นนำหลายแห่ง อาทิ PSH ที่มีกำไรเพียง 606 ล้านบาท ลดลง 34%”