HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุโควิดระลอก 3 ดันยอดใช้ Mobile Banking ปี64 โต 80.2-83.5% e-Wallet พุ่ง 15.8-18% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลจากแรงผลักดันการใช้ G-Wallet เป๋าตังของรัฐบาล
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองและสามตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายๆธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ e-Wallet กลับได้รับอานิสงส์ให้เติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ รวมถึงมีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าวมากขึ้น
สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่าผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมมีการโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Mobile banking และ e-Wallet อยู่ที่ 19 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเพิ่มมากกว่าการใช้งานในช่วงการระบาดระลอกแรกที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 17 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่มีผู้บริโภคกว่า 53.9% มีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2564 ปริมาณการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน Mobile Banking จะขยายตัวราว 80.2–83.5% YoY ซึ่งเร่งขึ้นจากปี 2563 ที่ 79.7% เช่นเดียวกับประมาณธุรกรรมผ่าน e-Moneyที่คาดว่าจะเติบโตราว 15.8–18.0% ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่ 8.7% ด้านมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking คาดว่าจะขยายตัวราว 36.5–38% YoY ใกล้เคียงกับปี 2563
ขณะที่มูลค่าการทำธรกรรมผ่าน e-Money คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 15.5-17.7% ซึ่งสะท้อนการเติบโตเร่งขึ้นจาก 9.9% ในปี 2563 โดยน่าจะมีแรงผลักดันหลักมาจากการใช้ G-Wallet (เป๋าตัง) จากโครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่น่าจะมีอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือและมีศักยภาพที่เข้ามาทำการตลาดมากขึ้นด้วย
ผลสำรวจพบว่าปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้มีการใช้ e-wallet คือความสะดวกสบายในการโอนเงินหรือชำระค่าบริการ (34.4%) มีโปรโมชั่นที่จูงใจต่อการใช้บริการ อาทิ ส่วนลดค่าสินค้าและบริการ (16.9%) มีร้านค้าที่ร่วมบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการที่หลากหลาย (16.2%)
ขณะเดียวกันผู้บริโภคส่วนใหญ่ราว 32.3% มี Mobile Banking และ e-Wallet มากกว่า 5 แอปพลิเคชัน ดังนั้นผู้ให้บริการจึงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาฐานลูกค้าของตนเองและความพยายามในการจูงใจให้ลูกค้ามีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากในอนาคตทางการไทยสามารถเข้ามาดูแลกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ดูแลร้านค้าในแพลตฟอร์มเพื่อบรรเทาต้นทุนค่าธรรมเนียมในการใช้บริการก็อาจมีผลต่อทิศทางหรือรูปแบบการชำระเงินในอนาคต