HoonSmart.com>>บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7 UP ดัน “ธุรกิจน้ำเป็นเรือธง” มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 30% และยังมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด บริษัทจะเป็นผู้นำ “ธุรกิจขายน้ำ” แห่งที่ 3 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ บริษัท ทีทีดับบลิว (TTW) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสต์ วอเตอร์ (EASTW)
“มนต์เทพ มะเปี่ยม” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (7UP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 และปีต่อๆไปจะเติบโตมาก จากการทำธุรกิจน้ำประปา ภายใต้บริษัทโกลด์ ชอร์ส ซึ่ง 7UP ถือหุ้นอยู่ 41%และกำลังซื้อเพิ่มเป็น 80% โดย โกลด์ ชอร์ส เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานขายน้ำประปาให้กับการประปาจังหวัดภูเก็ต หลังจากการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เลิกสัญญาซื้อน้ำจากเอกชน 7 ราย และ 1 รายใหญ่กำลังถูกยกเลิก รวมปริมาณซื้อน้ำ 46,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหตุขาดคุณสมบัติไม่มีใบอนุญาตโรงงานหรือรง.4 และไม่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ ปว. 58 ทำให้บริษัทสามารถขายน้ำในส่วนนี้แทนได้
นอกจากบริษัทได้ขายน้ำให้กับ กฟภ.ภูเก็ตแล้ว ยังขายให้โรงแรมและธุรกิจอื่นๆในภูเก็ตอีกด้วย ขณะเดียวกันยังมองเห็นโอกาสในอีกหลายจังหวัด เช่น พังงา กระบี่ และยังมีแผนผลิตน้ำอาร์โอ (RO) นำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืดขายในเกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ และเกาะท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการน้ำจืดปริมาณมาก และขายได้ในราคาสูง เพื่อที่จะเป็นผู้นำตลาดน้ำในภาคใต้
ส่วนธุรกิจบริหารจัดการงานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ บริษัท แซม วอเตอร์ ซัพพลาย จำกัด(SAM) ที่ 7UP ถือหุ้นอยู่ 53% ให้บริการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อใช้เลี้ยงกุ้งให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ก็จะเติบโตก้าวกระโดด ปัจจุบันดำเนินการ 3 เฟส รวม 124,000 ลูกบาศก์เมตร์ต่อวันและจะเพิ่มเฟส 4 อีก 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย CPF มีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ไม่นับรวมกับฟาร์มเลี้ยงกุ้งในต่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทขายน้ำประปาให้กับประปาจ.ภูเก็ตเฟส 1 แล้ว 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และกำลังเซ็นสัญญาเฟส 2 อีก 3,700-4,810 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่าจะรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลัง ส่วนที่จะเปิดรับซื้อน้ำอีก 26,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น บริษัทมีความพร้อมเต็มที่ที่จะเข้าร่วมประกวดราคา โดยมีแหล่งน้ำดิบรองรับได้เพียงพอ หลังเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำดิบที่พังงา ในพื้นที่เหมืองเก่าขนาด 340 ไร่ ผลิตน้ำได้ 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสร้างท่อขนส่งรองรับไว้แล้ว โดยในปี 2564 จะมีรายได้ 2,000-2,200 ล้านบาท เติบโต 50% จากปี 2563 และตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมให้หมด เพื่อกลับมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้
“กปภ.มีส่วนแบ่งตลาดน้ำประปาในจ.ภูเก็ตเพียง 40% เท่านั้น เรายังโตได้อีกมาก และตั้งเป้าเป็น เซาท์ วอเตอร์ (SOUTH WATER) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้บริการประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยวครอบคลุมภาคใต้ทั้งหมด หลังจากภูเก็ตเปิดรับนักท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น บริษัทจะมีรายได้สูงขึ้น โดยการลงทุนหนักๆ ได้ผ่านไปแล้ว จากนี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุน โดยเฉพาะปี 2565 จะเป็นปีที่จะมีการเติบโตอย่างมาก”มนต์เทพ กล่าว
สำหรับธุรกิจบำบัดน้ำขายให้ CPF สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตเติบโตได้อีกมาก ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรขั้นต้นสูงถึง 50-60 % คาดว่าจะมีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 30% ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆที่ไม่ถนัด เช่นธุรกิจไฟฟ้าก็จะขายออก ได้กำไรและนำเงินมาขยายธุรกิจด้านน้ำเพิ่มขึ้นอีก
ด้าน“ประทีป กุศลวัฒนะ”ผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาคเขต 4 เปิดเผยว่า กปภ.ได้บอกเลิกสัญญาซื้อน้ำจากผู้ประกอบการในภูเก็ต ถ้ายกเลิกทั้งหมด 10 ราย จะทำให้น้ำดิบที่รับซื้อหายไป 46,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในภูเก็ต เนื่องจากกปภ.ภูเก็ต มีกำลังผลิตน้ำประปาวันละ 90,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ผลิตได้จริง 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานได้ 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น เพื่อสำรองน้ำไว้ในอ่าง 80% ในภาวะปกติความต้องการใช้น้ำในภูเก็ตจะอยู่ที่ 1.2แสน-2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นน้ำส่วนที่ขาดก็จะต้องรับซื้อจากเอกชนเพื่อมาขายให้ประชาชนและภาคธุรกิจ โรงแรมต่างๆ
“การประปาภูเก็ต ราคารับซื้อน้ำเฉลี่ยที่ 15-16 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ราคาขายเฉลี่ย 23 บาท โดยขายให้ประชาชน 10-13 บาทและภาคธุรกิจตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป ในอัตราก้าวหน้าคือใช้มากต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น โดยเราและเอกชนยังมีกำไร คาดว่าเมื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ เชื่อว่าจะทะลักเข้ามามาก จะมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นมาก โดยกปภ.ได้เตรียมแผนรับมือแล้ว ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นการบริหารน้ำที่ไหลลงทะเล กลับมาเก็บในอ่าง และลงทุนตามแผนความต้องการใช้ 10 ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2568 หากไม่เพียงพอก็สามารถขอซื้อน้ำฉุกเฉินจากเอกชนเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอเปิดสัมปทานที่ต้องใช้เวลานาน ”
นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อน้ำอาร์โอได้ด้วย แม้ว่าราคาแพงมาก คาดต้นทุนผลิต 40-50 บาท ขายกปภ. 80 บาท เพราะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง กว่าจะคืนทุน จึงต้องทำสัญญาสัมปทานนาน เป็น 10 ปี เช่นที่เกาะสมุยผลิต 500 ลูกบาศก์เมตร/วัน สัมปทาน 20 ปี