โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นข่าวกรมสรรพากร ชี้แจงการเสียภาษีเงินได้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าตามตลาดนัด หรือไลฟ์สดขายออนไลน์ ต้องเสียภาษีอย่างไร รายได้เท่าไหร่ ถึงจะต้องเสียภาษี โดยยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายเหมา 60% และมีเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
* มีรายได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท ถึง 525,049 บาท ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ไม่มีภาษีต้องเสีย
* มีรายได้ทั้งปี 525,025 บาทขึ้นไป ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษี เริ่มต้น 1 บาท
* มีรายได้ทั้งปี 1,000,001 บาท ต้องเสียภาษี 11,500 บาท
* มีรายได้ทั้งปี 2,000,000 บาท ต้องเสียภาษี 63,500 บาท
อย่างไรก็ตาม หากมีเอกสารค่าใช้จ่ายจริง เช่น ค่าวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า ค่าขนส่ง ค่าจ้างลูกจ้าง หรือค้าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขาย และพิสูจน์ได้ว่า มีค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าการหักค่าใช้จ่ายเหมา เมื่อนำไปคำนวณภาษีแล้ว สามารถลดจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย
ทั้งนี้ หากมีรายได้จากการขายทั้งปี 1,800,000 บาทขึ้นไป ซึ่งรายรับจากการขายนี้ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
อ่านข่าวนี้แล้วก็รู้สึกกังวลแทนพ่อค้าแม่ค้าที่เพิ่งเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ “คนละครึ่ง” “เราชนะ” “เรารักกัน” ทำให้ขายของได้ดีขึ้นในภาวะวิกฤติ ขายดีไม่ทันไร สรรพากรก็นัดเจอล่ะ เหมือนโชคดีแต่กรรมบังยังไงไม่รู้ ที่ผ่านมาไม่เคยเสียภาษีเลย แต่มา ณ วันนี้ต้องเสียภาษีแล้ว แถมถ้าขายดีมากเกิน 1.8 ล้านบาท (ภายในปีภาษี) ต้องจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน (ถ้าไม่จด มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน/ปรับ 5000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) แถมมีหน้าที่พ่วงขึ้นมาอีกเพียบ เช่น ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ออกใบกำกับภาษี จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดๆ ไป เป็นประจำทุกเดือน ดูแล้วยุ่งยาก แต่จริงๆสรรพากรก็อำนวยความสะดวกยื่น online ได้แล้วนะ
สรุปง่ายๆ ต้องเข้ามาอยู่ในระบบเหมือนคนอื่นอย่างพวกมนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษีกันอย่างเต็มหวานอมขมกลืนมาตลอดนั่นเอง เสียทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ารายได้จากการขายเกิน 1.8 ล้าน) แล้วถ้าช่างมันไม่ยื่นแบบแสดงรายการ สรรพากรจะทำอะไร ก็ไม่มีอะไรมาก มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี (นับเศษของเดือนเป็น 1 เดือน เช่น 1 เดือน 15 วัน ก็จะนับเป็น 2 เดือนทันที)
แนะนำนะ อย่าเสี่ยงนะ สรรพากรเอาจริงๆนะ เพราะสรรพากรก็มีเป้าเหมือนเราอ่ะ ต้องเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี คนมีรายได้ที่จะเสียภาษีน้อย สรรพากรก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อเก็บภาษีจากคนที่มีเงินได้ให้มากที่สุด
แล้วสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีรายได้จากการขายเยอะ สรรพากรมีหลายวิธีเลยนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็กฎหมายการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่กำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน ต้องส่งรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ธุรกรรมต้องรายงานประกอบด้วย
• ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป
• ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่2ล้านบาทขึ้นไป
โดยดูจากยอดเงินและจำนวนครั้งที่รับโอน (เงินไหลเข้าบัญชี) ต่อเลขบัตรประชาชนต่อสถาบันการเงิน กฎหมายนี้
• ครอบคลุมทุกคนทุกอาชีพ
• การรายงานจะยึดเลขบัตรประชาชนเป็นหลัก(หลักการเดียวกับการคุ้มครองเงินฝาก)
• การนับข้อมูลนับเฉพาะรายการข้อมูลจะนับเฉพาะข้อมูลเงินไหลเข้าบัญชีเงินฝากเท่านั้นคือข้อมูลเงินรับโอนและข้อมูลการฝากเงิน
• ข้อมูลที่ส่งให้สรรพากรมีแค่ชื่อ-นามสกุลจำนวนครั้งวงเงินฝากและรับโอน
และเพราะจาก “คนละครึ่ง” นี้แหละที่เป็นโอกาสให้สรรพากรรู้จักพ่อค้า แม่ค้าตลาดนัดมากขึ้น เพราะเอาง่ายๆ ถ้าเราพาครอบครัวจำนวน 6 คน และทุกคนมี “คนละครึ่ง” หมด ไปกินอาหารที่ร้านนึงเป็นเงิน 1,600 บาท เราจะรูด “คนละครึ่ง” กี่ที แน่นอนครับ เราจะรูด “คนละครึ่ง” 6 ครั้งเลย เพราะ “คนละครึ่ง” ให้ใช้สิทธิได้ 150 บาท/วัน เท่ากับเราจ่ายมื้อนี้แค่ 800 บาท รัฐบาลออกให้ 800 บาท แต่ข้อมูลจำนวนยอดเงินที่รับโอนของพ่อค้า แม่ค้า คือ 1,600 บาท จำนวนครั้งคือ 6 ครั้ง เห็นป่าวครับ จริงๆกินครั้งเดียว แต่จำนวนครั้งของเงินที่รับโอน คือ 6 ครั้ง ดังนั้นโอกาสที่ยอดจำนวนครั้งจะถึง 3,000 ครั้งเป็นไปได้มาก
แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรดี ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็คงต้องวางแผนภาษีซื้อ ภาษีขายให้ดี เก็บเอกสารให้ดี ส่วนภาษีเงินได้ ก็ต้องวางแผนภาษีให้ดี อย่างเช่น ค่าลดหย่อนที่สรรพากรให้ ก็ใช้ให้เต็ม ประกันชีวิต ประกันบำนาญ RMF SSF ใครยังไม่ซื้อ หรือ ซื้อยังไม่เต็มสิทธิ ก็ซื้อนะ เพราะมันคือเงินออม เงินที่ซื้อพวกนี้ยังเป็นของเราอยู่ ไม่หายไปไหน แถมยังช่วยประหยัดภาษีด้วย