“โกลว์ พลังงาน” ไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 1.8 พันล้าน ลดลง 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เหตุรายได้ขายไฟลดลง ต้นทุนเพิ่ม ฉุด 6 เดือนกำไรลดเหลือ 4.4 พันล้านบาท
บริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2561 มีกำไรสุทธิ 1,796.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.23 บาท ลดลง 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,829.65 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.93 บาท ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิ 4,410.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.01 บาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,727.76 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.23 บาท
ไตรมาส 2 ปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าการเงิน จำนวน 13,513 ล้านบาท ลดลง 0.3% จากงวดปีก่อน โดยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลง 6% สาเหตุหลักมาจากค่าพลังไฟฟ้า (CP) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กลดลง เนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 2 (โครงการที่ 2) ที่ได้หมดอายุลง ซึ่งการหมดอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ยังทำให้ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ลดลง 1.7%
ทั้งนี้ สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 2 จำนวน 2 สัญญา (โครงการ 1 และ 2) ที่หมดอายุลงในปี 2560 ได้ถูกต่ออายุออกไปอีก 3 ปี โดยมีกำลังผลิตตามสัญญา 60 เมกะวัตต์ต่อสัญญา ลดลงจาก 90 เมกะวัตต์ต่อสัญญา โดยในช่วงที่สัญญาได้ถูกต่ออายุออกไปอีก 3 ปี บริษัทไม่ได้รับค่าพลังไฟฟ้า (CP)
ในส่วนของรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากอัตราค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 5.1% แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าจะลดลง 3.7% ส่วนรายได้จากการจำหน่ายไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากราคาจำหน่ายไอน้ำเพิ่มขึ้น 2.9% เนื่องมาจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ถึงแม้ยอดจำหน่ายไอน้ำที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.2% เป็น 2,028.0 กิโลตัน
นอกจากนี้บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ 119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณการจำหน่ายน้ำเพื่อกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 9.2% และปริมาณการจำหน่ายน้ำเย็นเพิ่มขึ้น 5.8% ส่วนรายได้อื่นๆ ประกอบด้วยกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและอื่นๆ มีจำนวน 93 ล้านบาท ลดลง 79.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการที่บริษัทฯ ไม่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมทั้งการลดลงของรายได้อื่นๆ ยังมีสาเหตุมาจากการบันทึกเงินชดเชยจากประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน จำนวน 187 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งในไตรมาส 2 ปีนี้ไม่มีรายการดังกล่าว
ขณะที่ต้นทุนขายมีจำนวน 10,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหิน ,ราคาก๊าซธรรมชาติและต้นทุนซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2561
อย่างไรก็ตามในไตรมาส 2/61 บริษัทมี Normalized Net Profit (NNP) ซึ่งคือกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ที่ไม่รวมผลจากการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสัญญาเช่าการเงิน 1,820.5 ล้านบาท และบวกกลับด้วย ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 303.41 ล้านบาท และผลต่างสุทธิของค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 23.62 ล้านบาท ดังนั้น ในไตรมาสที่ 2/2561 บริษัทมี NNP ส่วนของบริษัทใหญ่ 2,157 ล้านบาท ลดลง 23.7% จากไตรมาส 2/2560