THAI ยื่นแผนฟื้นฟูฯตามนัด 2 มี.ค. ขออัดฉีด 5 หมื่นลบ. นัดคุยเจ้าหนี้ 12 พ.ค.

HoonSmart.com>>”การบินไทย” ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการทันเส้นตาย 2 มี.ค. คาดศาลเห็นชอบเดือน ก.ค. ระหว่างทางนัดประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค. ลั่นไม่ยอม Hair Cut  แบไต๋ต้องการเงินอีก 5 หมื่นล้านบาท ขอก้อนแรก 3 หมื่นล้านบาทกลางปีนี้  ยันปี 67 พลิกมีกำไร หุ้นถูก SP ยาว ปี 63 ยอดขาดทุนกว่า 1.41 แสนล้าน ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 128,742 ล้านบาท

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า วันนี้ (2 มี.ค. 2564) บริษัทการบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย คาดว่าศาลฯ จะอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ประมาณเดือนก.ค.2564 และเตรียมเรียกประชุมเจ้าหนี้วันที่ 12 พ.ค. ซึ่งเจ้าหนี้ปฎิเสธแนวทาง Hair Cut  ตามแผนคาดผลประกอบการพลิกกลับมีกำไรภายในปี 2567 และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568

“THAI ต้องการเม็ดเงินอีก 5 หมื่นล้านบาท คาดระดมทุนก้อนแรก 3 หมื่นล้านบาทกลางปีนี้   ทั้งเพิ่มทุน กู้เงิน เปิดทางกลุ่มทุนใหม่เข้าร่วม หากศาลเห็นชอบแผนและสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง บริษัทพร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างรายได้ ตลอดจนทำกำไรได้อย่างยั่งยืน โดยมีบริษัทไทยสมายล์เป็นบริษัทย่อยร่วมมือเส้นทางบินมากขึ้น” นายชาญศิลป์ กล่าว

นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา บริษัทการบินไทยเผชิญปัญหาเหมือนสายการบินอื่นๆ ทั่วโลกที่ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง และมีกระแสเงินสดเหลือน้อย จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะหนี้สิน สภาพทางการเงิน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อสร้างรายได้จนกลับมามีกำไรอีกครั้ง โดยมีจุดแข็งในการประกอบธุรกิจและทรัพยากร นอกจากนี้บริษัทยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้จำนวนมาก ในปี 2562 การบินไทยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศรวม 1.2 ล้านล้าน (ประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนานและมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น การให้บริการของการบินไทยที่เป็นที่ประทับใจของลูกค้าและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

บริษัทการบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูงโดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์  โดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไร มีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มความแข็งแกร่งด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น

3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้

4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

นายชาญศิลป์กล่าวว่า การบินไทยได้มองไปข้างหน้าและเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัดจากการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจโดยละเอียด ได้มีมาตรการในการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย  เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบินรวมถึงการปรับลดขนาดองค์กร  โดยในปี 2562 มีพนักงานประมาณ 29,000 คน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21,000 คน และคาดว่าในปี 2564 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร อีกประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 ถึง 15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต

ขณะเดียวกันยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ 141,170 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น -128,742 ล้านบาท จนนำไปสู่การถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายหุ้นตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา