“ทริสเรทติ้ง” ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร ECF เป็น “BB+” จาก “BB” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทยังเติบโตระดับปานกลาง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) เป็นระดับ “BB+” จากระดับ “BB” อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ของบริษัท นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้พิจารณาถึงความสำเร็จในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกของบริษัทอีกด้วย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งการตลาดที่ระดับปานกลางของบริษัทในธุรกิจผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มั่นคงยาวนาน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตถูกลดทอนจากแนวโน้มสถานะทางการเงินของบริษัทที่น่าจะด้อยลงจากการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศพม่า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ตำแหน่งทางการตลาดในระดับปานกลาง ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจของบริษัทนั้นถือว่ามีขนาดปานกลาง บริษัทมุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าในตลาดที่มีราคาระดับกลางถึงล่าง โดยสินค้าของบริษัทเป็นสินค้าพื้นฐาน ที่มีข้อจำกัดในการตั้งราคาขาย ทั้งนี้ ประมาณ 65% ของสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ชนิดถอดประกอบเองได้ (Knockdown) ทั่วไป และจำหน่ายภายใต้แบรนด์สินค้าของลูกค้า
การจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงเติบโตปานกลาง การจัดจำหน่ายผ่านบริษัทร้านค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำยังคงเป็นจุดแข็งของบริษัท ทั้งนี้ ประมาณ 80%-90% ของรายได้จากการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทนั้น มาจากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ซึ่งทำให้รายได้ของบริษัท ยังคงเติบโตได้ประมาณ 4.5% ต่อปีซึ่งตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า เนื่องจากยอดขายจากลูกค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรกนั้นคิดเป็นประมาณ 75%-80% ของรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทยังเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขัน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทไม่มีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้า ดังนั้นบริษัทอาจถูกแทนที่ด้วยผู้ผลิตที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจากต่างประเทศได้
การขยายธุรกิจไปสู่ผู้ผลิตวัตถุดิบไม้เอ็มดีเอฟ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 บริษัทได้ตัดสินใจลงทุนในสัดส่วน 57% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดใน บริษัท แพลนเนทบอร์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาเพื่อผลิตและจำหน่ายไม้เอ็มดีเอฟ (MDF, Medium Density Fiber Board) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุนของโครงการอยู่ที่ประมาณ 1,456 ล้านบาทสำหรับการก่อสร้างโรงงานในจังหวัดนราธิวาส บริษัทวางแผนที่จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้และส่วนทุนในสัดส่วน 60:40 และตั้งเป้าที่จะดำเนินการผลิตในปี 2563
โครงสร้างหุ้นส่วนในการลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ หุ้นส่วนของโครงการนี้ นอกจากบริษัทอีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทคซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แล้ว ยังมีผู้ค้าไม้ในจังหวัดนราธิวาส รวมถึงผู้บริหารและเจ้าของบริษัทค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์เข้าร่วมด้วย การร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ทั้ง 3 รายนั้นน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบไม้สับและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้เอ็มดีเอฟ
สัดส่วนกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นั้นน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการในประเทศไทย โดยโครงการแรกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้านั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงในครึ่งแรกของปี 2561 ทั้งนี้ เราคาดว่าโรงไฟฟ้านี้น่าจะสร้างส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนให้บริษัทได้ประมาณ 15-20 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ โครงการที่ 2 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลชนิด Gasification 2 โรงงาน โรงงานละ 1 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าทั้ง 2 โรงงานจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ภายในเดือนธันวาคม 2561
แรงกดดันจากโครงการในประเทศพม่า การลงทุนในโครงการมินบูยังคงสร้างแรงกดดันต่ออันดับเครดิต โครงการมินบูซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ในประเทศพม่าถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ปัจจุบัน โครงการล่าช้าไปแล้ว 7 เดือนและยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เนื่องจากความล่าช้าในการออกเอกสารที่สำคัญในประเทศพม่า การลงทุนในโครงการมินบูนั้นถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของประเทศ และมูลค่าการลงทุนขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัท อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการนี้ คาดว่ากระแสเงินสดโดยรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน
สถานะการเงินยังมีแนวโน้มอ่อนตัวแม้จะมีการเพิ่มทุน ความสำเร็จในการเพิ่มทุนของบริษัทนั้นทำให้สถานะการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยส่วนทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 659 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 1,029 ล้านบาทในปี 2560 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้น เป็นต่ำกว่า 60% ซึ่งดีกว่าที่ประมาณการไว้ว่าอัตราส่วนจะอยู่สูงเกินกว่า 70%
อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าสถานะการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงในอนาคตจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย 1) การก่อสร้างของโครงการมินบูจำนวน 697 ล้านบาท 2) คลังเก็บสินค้าแห่งใหม่มูลค่า 300 ล้านบาท และ 3) โรงงานผลิตไม้เอ็มดีเอฟมูลค่า 1,456 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนบางส่วนจากการเพิ่มทุนจำนวน 573 ล้านบาท ซึ่งมาจากการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) รวมจำนวน 258 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2561 และอีกจำนวน 315 ล้านบาทจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่ยังเหลือ (ECF-W2) ซึ่งคาดว่าจะถูกใช้สิทธิภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2562 จากประมาณการขั้นพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้ต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 60%-65% ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 8% ในอีก 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจะยังสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางและบริษัทจะยังคงรักษาอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ให้อยู่ในช่วง 10%-13% ได้ต่อไป ในขณะที่ช่องทางการจำหน่ายสมัยใหม่จากทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทยจะยังคงเป็นช่องทางหลักของบริษัท
จจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประสบความสำเร็จตามคาดจนส่งผลให้กำไรและกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่บริษัทยังคงรักษาโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อ่อนแอกว่าที่คาดอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานาน และ/หรือโครงการโรงไฟฟ้ามินบูไม่ประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดการขาดทุนจำนวนมาก การลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนทำให้อัตราเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่า 70% เป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลลบต่ออันดับเครดิตได้เช่นกัน