BGRIM หวังอัตรากำไรปีนี้แตะ 30% งบลงทุน 5 หมื่นลบ. ครึ่งหนึ่งลุยซื้อกิจการ

HoonSmart.com>>“บี.กริม เพาเวอร์” ตั้งเป้า EBITDA ปี 64 แตะ 30%  รับรู้ COD โครงการใหม่ ต้นทุนก๊าซถูกลง ลูกค้านิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ตั้งงบลงทุน 4.5-5 หมื่นล้านบาท แบ่ง 50% ลุย 7 โครงการตามแผน กำลังผลิต 980 เมกะวัตต์  จ่อเปิด COD ปี 65 ทั้งหมด  งบอีก 50%  ซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ  760 เมกะวัตต์ พร้อมประมูลทั้งโซลาร์ รูฟท็อป-โซลาร์ ลอยน้ำ-โรงไฟฟ้า ยันไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในเมียนมา-ลาว จับมือพันธมิตรมาเลเซียศึกษานำสาหร่ายใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน คาดรู้ผล 3 เดือนข้างหน้า

 

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดย ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 ภายใต้รูปแบบโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (SPP)  ในวันที่ 19 ก.พ. 2564 ณ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ (MW) คาดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ในปี 2565 ทดแทนโครงการเดิมที่มีขนาดกำลังการผลิต 103 เมกะวัตต์ และกำลังจะหมดอายุสัญญาลง  เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้รับการสนับสนุนไฟฟ้าและไอน้ำที่มีเสถียรภาพในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็น 1 ใน 7 โครงการที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้างตามแผน

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าอัตรากำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) แตะ 30% จากปีก่อนอยู่ที่ 29% มาจากโครงการใหม่ที่มีแผน COD ได้แก่ โครงการ กังหันลม จ.มุกดาหาร จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ รูฟท็อป 15-20 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ในพื้นที่อู่ตะเภา 15 เมกะวัตต์ ซึ่งยังมีการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการ โซลาร์ ฟาร์ม ที่ประเทศกัมพูชาด้วย รวมถึงได้รับประโยชน์จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง และลูกค้านิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่งบลงทุนในปีนี้วางไว้ที่ประมาณ 45,000-50,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุน 50%   เป็นการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการในแหลมฉบัง 1 โครงการ , ที่นิคมอมตะนคร 2 โครงการ , ที่มาบตาพุด 2 โครงการ และที่จังหวัดอ่างทองอีก 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 980 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565

ส่วนเงินลงทุนอีก 50%  เตรียมไว้ซื้อกิจการในปีนี้ โดยตั้งเป้าจะได้กำลังการผลิตในประเทศประมาณ 300-360 เมกะวัตต์ ส่วนต่างประเทศจะได้ประมาณ 200-250 เมกะวัตต์  ในต่างประเทศมีสัญญาที่มีส่วนต่อขยายเพิ่มอีก 120-150 เมกะวัตต์

“ในปีนี้จะเป็นปีที่เราเน้นการเข้าซื้อกิจการ ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น โดยมีแผนที่จะออกหุ้นกู้จำนวน 5,000-7,000 ล้านบาท  ปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือ 20,000 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอีก 15,000 ล้านบาทต่อปี” ดร.ฮาราลด์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 1,000-1,200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมในประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ รวมกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์

สำหรับโซลาร์ ฟาร์ม ของกองทัพบก บริษัทฯสนใจในการเข้าร่วมประมูล เบื้องต้นต้องรอดูว่าโครงการดังกล่าวได้จัดอยู่ในแผนที่ภาคเอกชนสามารถเข้าลงทุนได้หรือไม่ และโครงการ โซลาร์ ลอยน้ำ ในเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลในปีนี้ บริษัทก็พร้อมเข้าร่วมประมูลร่วมกับพันธมิตร

ด้านผลกระทบจากการเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมา บริษัทไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้จะชะลอแผนการลงทุนไปก่อนก็ตาม เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ส่วนประเทศลาว บริษัทไม่ได้มีผลกระทบจากการชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้าของรัฐบาลลาว ขณะเดียวกันก็มีการชะลอโครงการพลังงานน้ำ 7 โครงการ รวมกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์การลงทุนที่เหมาะสม จากการที่ยังไม่สามารถเดินทางได้ ปัจจุบันบริษัทมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมาก โดยทางรัฐบาลลาวมีความยืดหยุ่นให้บริษัทเช่นกัน

ดร.ฮาราลด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับพันธมิตรในประเทศมาเลเซีย ในการนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมัน เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงโอกาสเข้ารับงานและลงทุน ในโรงไฟฟ้าที่ใช้สาหร่ายเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต คาดว่าจะได้ผลข้อสรุปการศึกษาที่ชัดเจนภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 48 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,058 เมกะวัตต์ หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาจะทำให้กำลังการผลิตขยายเป็น 3,682 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2568 มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเป็น 7,200 เมกะวัตต์