HoonSmart.com>>”ราช กรุ๊ป” โตสวนโควิด ปี 63 กำไร 6,286 ล้านบาทโต 5.4% หนุนปี 64 ปีได้สวย จัดงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการใหม่ 7 พันล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 700 MW เล็งซื้อกิจการ 350 MW คาดสรุป 1 ดีลไตรมาส 1 ขยายพอร์ตธุรกิจสาธารณูปโภค จับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ สร้างความมั่นคง 5 ปี ธุรกิจไฟฟ้าเหลือสัดส่วน 80% จากปัจจุบัน 95% แจกปันผลอีก 1.50 บาท ผลตอบแทนประมาณ 2.37% บล.คันทรี่ กรุ๊ปแนะซื้อหุ้น เป้า 70.50 บาท
นาย กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทราช กรุ๊ป (RATCH) แถลงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 จะดีขึ้น บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 8,174 เมกะวัตต์ มาจากการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) 350 MW เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท สำหรับโครงการเดิม 8 พันล้านบาท และโครงการใหม่ 7 พันล้านบาท คาดว่าจะสรุปดีลซื้อกิจการในต่างปรเะทศได้ 1 ดีลในไตรมาสแรก
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตเชิงพาณิชย์ 6,599.99 MW กำลังผลิต พัฒนาและก่อสร้าง 1,574.1 MW คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 537.04 MW ในปี 2564 มาจากโครงการในอินโดนีเซีย 145.15 MW ออสเตรเลีย 2 โครงการจำนวน 149.94 MW และ 226.8 MW โครงการที่เวียดนามอีก 15.15 MW นอกจากนี้บริษัทยังสนใจเข้าชิงโรงไฟฟ้าชุมชนในภาคใต้ และอีสาน เจรจาความร่วมมือกับผู้ร่วมทุนแล้ว 2 ราย คาดจะลงทุนในภาคใต้มากกว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตเป้าหมายในปี 2568 จำนวน 10,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานจะสานต่อโครงการที่ได้เริ่มศึกษาและเจรจาร่วมทุนในปีที่ผ่านมาต่อเนื่อง ได้แก่ การร่วมทุนในบริษัทนวัตกรรมกับกลุ่มกฟผ. โครงการ District 9:เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ โครงการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งในลาว คาดจะผลิต 6 หมื่นตัน และจะเพิ่มเป็น 8 หมื่นตัน คาดว่าจะก่อสร้างโรงงานได้ต้นปี 2564 บนสัมปทานที่ดิน 4 หมื่นไร่ เฟสแรกใช้ 2 หมื่นไร่ ผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชยได้ปี 2565 ให้กับลูกค้าญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับการลงทุนในหุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) จำนวน 15.53% มูลค่า 2,700 ล้านบาท บริษัทได้พิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับและความเสี่ยงเป็นอย่างดี แม้ว่าในปีที่ผ่านมา BAFS จะมีขาดทุน เพราะผลกระทบจากโควิด แต่ความต้องการนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานยังคงเติบโต เมื่อสถานการณ์โควิดจบลงในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า และบริษัทมีการขยายธุรกิจคาร์โก จากสถิติที่ผ่านมา 10 ปี BAFS มีกำไรทุกปี พร้อมจะขยายความร่วมมือ ร่วมทุนโรงไฟฟ้าทดแทนเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน เช่น ท่อส่งน้ำมันดิบ
“บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม (EBITDA) นอกจากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มจาก 5% เป็นสัดส่วน 20% ใน 5 ปี เพราะธุรกิจไฟฟ้ามีผู้เล่นมากขึ้น ธุรกิจสาธารณูปโภคระยะยาวช่วยปิดความเสี่ยง เช่นมอเตอร์เวย์สัมปทาน 30 ปี ส่วนธุรกิจแบตเตอรี่ มีคนชวนลงทุนเหมือนกัน แต่เทคโนโลยียังไม่ได้ เราก็ต้องศึกษาต่อไป” นายกิจจากล่าว
ด้านผลการดำเนินงานปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,286.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 323.4 ล้านบาทหรือ 5.42% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,963.28 ล้านบาท รายได้รวม 39,522 ล้านบาท หากหักค่าเชื้อเพลิง มีจำนวน 16,155.92 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 94.8% เป็นรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท
คณะกรรมการมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1.25 บาท ให้ผู้ถือหุ้นที่มีชือในทะเบียนวันที่ 3 มี.ค. กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 2 มี.ค. และกำหนดจ่ายเงินวันที่ 23 เม.ย. 2564 คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 2.37% เทียบกับราคาหุ้นที่ 52.75 บาท
ก่อนหน้านี้ บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วหุ้นละ 1.15 บาท เป็นเงิน 1,667.50 ล้านบาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งปี เท่ากับ 2.40 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 3,480 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 55.4% ของกำไรส่วนของบริษัท
บล.คันทรี่ กรุ๊ป แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 70.50 บาท/หุ้น จากไตรมาส 4/2563 กำไรที่ 2,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 135%จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงที่สุดในสิบไตรมาสที่ผ่านมามาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในต่างประเทศ คาดไตรมาส 1/2564 ดีขึ้น จากปัจจัยตามฤดูกาลของโรงไฟฟ้า IPP และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ