HoonSmart.com>> “ไทยออยล์” เปิดงบปี 63 พลิกขาดทุนสุทธิ 3,301 ล้านบาท จากงวดปีก่อนกำไร 6,277 ล้านบาท ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน รายได้จากการขายลดลงผลกระทบโควิด-19 แย้มไตรมาส 1/64 ดีขึ้น บอร์ดใจป้ำเคาะจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นอัตรา 0.70 บาท ขึ้น XD 25 ก.พ.นี้ พร้อมเปิดแผนลงทุน 5 ปี ตั้งงบลงทุนกว่า 2.25 พันล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด
บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 ขาดทุนสุทธิ 3,301.41 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.62 บาท พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 6,276.68 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.08 บาท
คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.70 บาท รวมเป็นเงิน 1,428 ล้านบาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผลวันที่ 1 มี.ค.2564 ขึ้น XD ไม่ได้รับสิทธิปันผล 25 ก.พ. 2564 และจ่ายเงินปันผล 26 เม.ย. 2564
สำหรับผลดำเนินงานปี 2563 ลดลงเป็นผลจากกลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 242,840 ล้านบาท ลดลง 118,928 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมที่ปรับลดลงจากผลกระทบของสงครามราคาน้ำมันและการระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้แม้อัตรากำไรขั้นต้นของสาร LAB จะดีขึ้น แต่จากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่อ่อนตัวลงโดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซล แม้ว่า Crude Premium จะปรับลดลงค่อนข้างมาก อีกทั้ง ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้ของธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและยางมะตอยที่อ้างอิงราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันเตาได้ปรับตัวลดลง รวมทั้งปริมาณการขายน้ำมันยางสะอาดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พิเศษปรับลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 2.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 2.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 7,399 ล้านบาท เทียบกับกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 1,581 ล้านบาทในปี 2562 นอกจากนี้ยังมีขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 174 ล้านบาทเทียบกับกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 359 ล้านบาทจากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกลุ่มไทยออยล์ในปี 2563 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน จากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนในปีที่แล้วประกอบกับในปีนี้กลุ่มไทยออยล์มีการดำเนินกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารงานระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุน EBITDA 2,055 ล้านบาท เทียบกับ EBITDA 14,149 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ1,784 ล้านบาทจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยมีต้นทุนทางการเงิน 4,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,068 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรจากการขายเงินลงทุนใน GPSC 5,801 ล้านบาท
สำหรับงวดไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิ 7,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,273 ล้านบาท จากงวดปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,984 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายลดลง 36,260 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายผลิตภัณฑ์รวมที่ปรับลดลง และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 0.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่มีกำไรขั้นต้นจากกลุ่มอะโรเมติกส์เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาสารเบนซินกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น แม้ส่วนต่างราคายางมะตอยกับน้ำมันเตาปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อรวมกำ ไรจากจากสต๊อกน้ำมัน 1,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,172 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อนและการกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 83 ล้านบาท ประกอบกับมีผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 254 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA ลดลง 750 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่เพิ่มขึ้น 2,302 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนใน GPSC 5,801 ล้านบาท
บริษัทฯ คาดว่าราคาน้ำมันดิบในครึ่งแรกของปี 2564 แนวโน้มสูงขึ้นกว่าครึ่งหลังของปี 2563 หลังตลาดคาดสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังผลิต โดยมงภาพรวมธุรกิจการกลั่นในไตรมาส 1/25641 ดีขึ้นจากไตรมาส 4/2563 และครึ่งแรกปีนี้คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้คาดว่าตลาดสารพาราไซลีนในไตรมาสแรกนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากผ่าน
เทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับอุปสงค์สารพาราไซลีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาสก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และคาดว่าครึ่งแรกของปีนี้จะดีขึ้นกว่าครึ่งหลังปี 2563 รวมทั้งตลาดตราสารเบนซีน ตลาดสารโทลูอีน แนวโน้มจะดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทและบริษัทในกลุ่มตั้งแต่ปี 2564-2567 รวมทั้งสิ้น 2,248 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) 1,903 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของ TOP SPP (TOP SPP Expansion) 145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โครงการ CFP มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทฯ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและขยายกาลังการกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้มากและหลากหลายชนิดขึ้น ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) และลดต้นทุนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งโครงการมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติแล้วจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2561 ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปี 2566