๐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับฐานลง หลังจากเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดขึ้น ท่ามกลางการเร่งตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 บางแห่ง ได้รับการรับรองให้ใช้วัคซีนสำหรับการรักษากรณีฉุกเฉินได้ อาทิ บริษัท Pfizer/BioNTech และ Moderna ซึ่งเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนแล้วในบางประเทศ ขณะที่บริษัทผลิตวัคซีน AstraZeneca อาจแจกจ่ายวัคซีนล่าช้า จากปัญหาเรื่องจำนวนการส่งมอบวัคซีนใน EU ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นทั่วโลก
๐ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ขึ้นเป็น 5.5% จากเดิม 5.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนเรื่องความคืบหน้าวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นเป็น 5.1% (จากเดิม 3.1%) ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นเป็น 3.1% (จากเดิม 2.3%) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนลงเป็น 4.2% (จากเดิม 5.2%) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจจีนเป็น 8.1% (จากเดิม 8.2%) และปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยเป็น 2.7% (จากเดิม 4.0%)
๐ ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน ม.ค. ของประเทศหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากภาคบริการที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่ดัชนีโดยรวมสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด โดยดัชนีสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7 จุด เป็น 58.0 จุด จากทั้งภาคการผลิตและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนียูโรโซนปรับตัวลดลง -1.6 จุด เป็น 47.5 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวลดลง ดัชนีญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -1.8 จุด เป็น 46.7จุด ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น
๐ Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด และยังไม่พิจารณาที่จะชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Taper) ในช่วงนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจใช้เวลานานกว่าคาด
๐ ยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการครั้งแรกในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. ลดลงมากกว่าคาดเป็น 8.47 แสนราย อย่างไรก็ดี ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก และสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 ประมาณ 4 เท่า สะท้อนตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง
๐ แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน A-Share และเกาหลี เนื่องจากจีนเน้นการเติบโตภายในประเทศเป็นหลักและสามารถควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้มีประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่เกาหลีได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของ Semiconductor