HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดประชุม 26-27 ม.ค.64 คงนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย รอการผลักดันมาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม และน่าจะไม่มีการประกาศใช้เครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆ เพิ่มเติมในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 ม.ค.2564 นี้ โดยคาดว่า แม้เฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่จะยังย้ำถึงความจำเป็นของการเร่งผลักดันมาตรการฝั่งการคลังจากรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ เพื่อให้ทั้งนโยบายการเงินการคลังมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงและหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
“เฟดจะส่งสัญญาณติดตามความเสี่ยงเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 แม้จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุม FOMC วันที่ 26-27 ม.ค. นี้” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีสัญญาณรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายส่วนยังคงมีทิศทางปะปน โดยแม้ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ เดือนม.ค. 2564 จะสะท้อนว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว แต่ในขณะเดียวกัน สัญญาณเครื่องชี้ในตลาดแรงงานยังคงชะลอตัว โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ล่าสุดยังอยู่ในระดับสูงใกล้ระดับ 9.0 แสนราย (สูงกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด-19) ซึ่งย้ำทิศทางอ่อนแอต่อเนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับลดลงในเดือนธ.ค. 2563 แม้ตลาดแรงงานจะมีสัญญาณอ่อนแอลงบ้าง
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% พร้อมกับคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ตามเดิม (วงเงินสำหรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และสำหรับซื้อ Mortgage-backed Securities 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) เพื่อรอประเมินสัญญาณกระตุ้นเพิ่มเติมจากนโยบายการคลัง หลังรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ เตรียมที่จะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.0% ของจีดีพีสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณเข้าซื้อพันธบัตรในอายุที่ยาวมากขึ้นเพื่อจำกัดกรอบการปรับตัวขึ้นของต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นมาเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนหน้าประมาณ 0.18% หรือ 18 basis points มายืนที่ระดับ 1.10% (ข้อมูล ณ 22 ม.ค. 2564)
สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดจะยังคงเน้นน้ำหนักความสำคัญกับโจทย์ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาพรวมมากกว่าประเด็นด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวแปรสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดท่าทีของเฟดในระยะข้างหน้าจะอยู่ที่ 2 เรื่อง ได้แก่
1) ความสามารถในการควบคุมการระบาดและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งนี้ภารกิจในการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองสหรัฐฯ ให้ครบเป้าหมายที่ 100 ล้านคน (หรือราว 40% ของประชากรทั้งประเทศ) ภายใน 100 วันแรกของการรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากอุปสรรคในการส่งมอบวัคซีนและสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงและมีความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่ (โดยเฉพาะจากสายพันธุ์ในอังกฤษ) เพิ่มขึ้น
2) ความรวดเร็วและความสำเร็จของรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสภาคองเกรส เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนทั้งฝั่งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันยังคงตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นในการใช้เม็ดเงินขนานใหญ่ที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญจะอยู่ที่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากันอยู่ที่ 50:50 ซึ่งเท่ากับว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะต้องได้รับคะแนนเสียงเพิ่มเติมบางส่วนจากฝั่งรีพับลิกัน
ดังนั้นแล้ว หากสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงของโควิด-19 และความล่าช้าของการเดินหน้ามาตรการทางการคลัง ก็อาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังคงส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม
สำหรับผลต่อไทยนั้น คาดว่า การส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะไม่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย เนื่องจากกนง. น่าจะเน้นน้ำหนักการพิจารณาไปที่ปัจจัยเศรษฐกิจไทยมากกว่า
อย่างไรก็ดีตัวแปรจากฝั่งสหรัฐฯ คงมีผลต่อความเคลื่อนไหวของทิศทางค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีจังหวะทยอยขยับขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มเติม
นอกเหนือไปจากแนวโน้มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่จะสูงต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อระดมทุนสำหรับมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่แม้เงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่า แต่กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น เพราะเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับแรงนหนุนในบางช่วงในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงจากฝั่งสหรัฐฯ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรการเศรษฐกิจ การเมืองภายใน และสถานการณ์โควิด-19