SCBS ชี้ปัจจัยภายนอกไม่มี “เซอร์ไพรส์” คาดหุ้นไทยไตรมาส 2 “ไซด์เวย์” มั่นใจลงทุนภาครัฐ-จัดสรรงบกลางปี 1.5 แสนล้าน ยันเป้าดัชนีปีนี้ 1,900 จุด แนะลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์-ค้าปลีก-โรงพยาบาล
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เปิดเผยแนวโน้มและกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/2561 ว่า ดัชนีฯจะแกร่งตัวในลักษณะไซด์เวย์ที่ 1,800 จุดบวกลบ 50 จุด แต่ทั้งปีน่าจะยืนที่ระดับ 1,900 จุดได้ตามเป้าหมายที่ SCBS คาดไว้ โดยมีปัจจัยบวกในประเทศสนับสนุน ได้แก่ การลงทุนและการเบิกจ่ายงบภาครัฐที่จะเร่งตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 และ3 ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโตตามมา
พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังได้กระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยจัดสรรงบกลางปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากกฎหมายประกาศใช้เมื่อไหร่ ก็จะทำให้เกิดการลงทุนในอีอีซี ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ยังคงเติบโตได้ที่ 8-10% จากปีที่แล้ว แม้ว่ารายได้ของกลุ่มแบงก์ทั้งระบบจะลดลง 5% จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนก็ตาม
“ไตรมาส 2 ตลาดยังเป็นไซด์เวย์ หลังไตรมาส 1 ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก เพราะราคาน้ำมันเพิ่มจาก 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็เชื่อว่าคงไปไม่ไกลกว่านี้ เพราะจะมีซัพพลายจากเชลล์ออยล์ทะลักเข้ามา ส่วนสงครามการค้าสหรัฐและจีนน่าจะจบลงบนโต๊ะเจรจา กรณีเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ตลาดก็รับรู้ไปแล้ว และสงครามตัวแทนในซีเรียที่ไม่ลุกลามออกไปนั้น คงมีผลทำให้ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น แต่ดัชนีฯจะขึ้นไปถึง 1,800 จุดตรงนี้ยังยากอยู่”นายอิสระกล่าว
นายอิสระ กล่าวว่า ในปีนี้และปีหน้าน่าจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเร่งตัวขึ้นกว่าที่คาด จากเศรษฐกิจสหรัฐที่เร่งตัวและค่าจ้างในสหรัฐมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 เดือนจากนี้ เพราะการจ้างงานอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งจะกดดันต่อเฟดในการปรับเพิ่มดอกเบี้ย และคาดว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐเพิ่มจาก 2.95% เป็น 3.23% ภายในปีนี้ แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากนัก เพราะหากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้
สำหรับหุ้นแนะนำ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่จะได้ประโยชน์จากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ และคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และบริษัท โรบินสัน (ROBINS) ที่จะได้รับประโยชน์จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี และราคายังมี Laggard โดยเฉพาะ ROBINS ราคาถือว่าถูกที่สุดในกลุ่มพาณิชย์ และปีนี้กำไรจะเติบโตที่ 16%
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่เติบโตตามเทรนด์ธุรกิจประกันสุขภาพที่เติบโตต่อเนื่อง และบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ที่ราคาลดลง 28% ในช่วง 1 ปี แต่กำไรในปีนี้ยังเติบโตที่ 20%
นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย SCBS กล่าวว่า ดัชนีฯที่ลดลงมาในช่วงที่ผ่านมาเป็นการลดลงเพื่อที่จะขึ้นต่อ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่วนเศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากเม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่จะเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ3 ปีนี้ รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลจัดสรรงบกลางปี 2561 เข้าสู่ระบบ 1.5 แสนล้านบาท โดยงบกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นงบเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
“ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เม็ดเงินภาครัฐเบิกจ่ายไม่ออก ทำให้การลงทุนภาครัฐติดลบ 6% ซึ่งเป็นผลจากพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่มีบทลงโทษหนัก คือ จำคุก 10 ปี แต่เชื่อว่าสถานการณ์การเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะเร่งตัวขึ้น กฎหมายอีอีซีที่เตรียมประกาศใช้จะทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น จะทำให้ดัชนีฯไปที่ 1,900 จุดได้ แต่ในช่วงไตรมาส 2 ราคาหุ้นคงไม่วิ่งเยอะด้วยปัจจัยฤดูกาล และเป็นช่วงของการจ่ายเงินปันผล”นายพรเทพกล่าว
นายพรเทพ กล่าวว่า ดัชนีฯตลาดหุ้นไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินภายในประเทศ โดยเฉพาะเงินจากกองทุนแอลทีเอฟ และกองทุนอื่นๆ เนื่องจากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปเป็นเงิน 1 แสนล้านบาทแล้ว แต่ดัชนีฯตลาดหุ้นไทยก็ยังประคองตัวอยู่ได้ และเมื่อคำนวณจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ที่จะเติบโตได้ที่ 8-10% โดยคิดค่าพี/อีที่ 15.6 เท่า ดัชนีฯน่าจะขึ้นไปได้ที่ระดับ 1,900 จุด