HoonSmart.com>> บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินหุ้นกลุ่มแบงก์ระยะสั้นอ่อนตัวผันผวน 1-2 สัปดาห์ TISCO ประเดิมแจ้งปี 63 กำไร 6,063 ล้านบาทออกมาตามคาด ส่วนบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล น่าผิดหวัง ทรุดถึง 36% เหลือกำไรสุทธิ 2,056 ล้านบาท ขาดทุนด้านเครดิตยับ รับมือความไม่แน่นอน ด้านกนง.ประชุม 3 ก.พ.นี้ คาดลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ กดดันกำไรกลุ่มแบงก์ แต่บวกกลุ่มเช่าซื้อ
บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์หุ้นกลุ่มแบงก์ หลังเงินทุนไหลเข้าเริ่มแผ่ว โดยกลยุทธ์ระยะสั้น มองกลุ่มธนาคารอ่อนตัวผันผวน 1-2 สัปดาห์ ส่วนระยะยาว รอสะสม เพื่อรอการฟื้นตัวระยะยาวสำหรับ BBL, KBANK, TISCO เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวช้า และวงจรดอกเบี้ยขาลงอาจสิ้นสุดหลังการลดอีก 1-2 ครั้งในไตรมาส 1/64
ด้าน TISCO รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/2563 เป็นบริษัทแรก ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลง 12%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาส 3 ใกล้เคียงโนมูระและตลาดคาด รายได้ค่าธรรมเนียมดีขึ้นตามฤดูกาล แต่สินเชื่อทรงตัว และการตั้งสำรองเร่งขึ้น ทำให้ระยะสั้นตลาดให้น้ำหนักสัญญาณสินเชื่อและการตั้งสำรองที่ยังเร่งเป็น Tone ลบเล็กๆ เพื่อจับตาธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ประเด็นนี้บดบังสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ของ TISCO ที่ลดลงจาก 2.6% มาอยู่ที่ 2.5%
ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแอลงอีกในไตรมาส 1/2564 ตามมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ประเมินไว้ว่า การใช้มาตรการระดับปานกลางในการควบคุมการระบาด ช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) และสถานการณ์ควบคุมได้ จากนั้นเริ่มผ่อนคลายมาตรการลง คาดกระทบเศรษฐกิจ 1.0-1.5% ทำให้ ปี 2564 จากสมมติฐานกรณีฐาน 3.2% มี Downside ปรับลงอีก (อาจปรับลงใกล้โนมูระ คาดที่ 2.8%) หนุนโอกาสในการผ่อนคลายดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป
สำหรับการประชุม กนง.วันที่ 3 ก.พ.นี้ บล.โนมูระฯคาดจะมีการลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25% จะกดดันกำไรสุทธิของ KTB, TMB, BBL, SCB, KBANK มี Downside มากที่สุดเรียงตามลำดับ -10.1% ถึง -6% แต่มองเป็นบวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ จากฐานกำไรราว 4% สำหรับ TISCO และ KKP
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เปิดเผยว่าในปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,063.48 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 7.57 บาท ลดลงจากปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,270.23 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 9.08 บาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิ 1,864.74 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
กำไรสุทธิในปี 2563 ลดลงจำนวน 1,206.75 ล้านบาท หรือ 16.6% จากปีก่อนหน้า ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กดดันรายได้จากธุรกิจหลัก รวมถึงภาระการตั้งค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่สูงขึ้น เพื่อสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.4% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 12.6% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง
อย่างไรก็ดีรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจตลาดทุนดีขึ้น 12.8% ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในภาวะที่ตลาดทุนผันผวน
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง สอดคล้องกับรายได้ที่ชะลอตัว ในส่วนของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.42% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงติดตามและดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.50% ณ สิ้นปี 2563
ปี 2563 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีจำนวน 3,330.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญจำนวน 1,109.10 ล้านบาทในปี 2562และคิดเป็นอัตรา 1.42% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นผลมาจากภาวะความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
สำหรับค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของงวดไตรมาส 4 เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตดีขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี บริษัทเห็นความจำเป็นในการตั้งสำรอง เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดดังกล่าว
ด้านบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) เปิดผลการดำเนินงานประจำปี 2563 มีกำไรสุทธิ 2,056.83 ล้านบาท ลดลง 1,157.77 ล้านบาท ทรุดถึง 36% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,214.60 ล้านบาท โดยเป็นผลจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นถึง 110.8%
ทั้งนี้ เฉพาะไตรมาสที่ 4 มีกำไรสุทธิเพียง 204 ล้านบาท ดิ่งแรงถึง 76.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 879.9 ล้านบาท โดยเป็นผลจากขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่่มขึ้น 820.3%
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4,725.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 6.8% เป็น 1,183.6 ล้านบาทขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ 11.6% เหลือจำนวน 3,021.6 ล้านบาทในปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงจากกำไรเงินลงทุน