HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ GDP จีนปี 63 โตเกินคาดอยู่ที่ 2.3% คาดปี 64 ขยายตัว 8.0-8.5% มุ่งเน้นการเติบโต แบบมีคุณภาพ และการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ จับตาภาระหนี้ภาคเอกชนสูง ความไม่แน่นอนการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ประเทศจีนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ทั้งในแง่การควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ ให้กลับมายืนได้ในระดับปกติได้อย่างรวดเร็วฉับไว ผ่านการผสานมาตรการผ่อนคลางทางการเงินที่เจาะจงและเล็งเห็นผล โดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และมาตรการทางการคลังที่เน้นช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการเพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนให้กลับมาเป็นปกติ นับเป็นความสำเร็จอย่างประจักษ์โดยชี้ชัดจากการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4/2563 ที่เติบโต 6.5% YoY ส่งผลให้ GDP จีนทั้งปี 2563 เติบโต 2.3% YoY
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2564 จะเติบโตในกรอบ 8.0 – 8.5% YoY โดยเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2563 ที่เติบโต 6.5% YoY ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2563 โตเกิดคาดที่ 2.3% YoY เป็นผลความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงทีและเห็นผล
อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะแตกต่างออกไป โดยเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว (High-quality Growth) ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านคุณภาพชีวิตของประชากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ การยกระดับเทคโนโลยีในประเทศและลดการพึ่งพาจากต่างชาติ (Technological Self-reliance) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ที่จะมุ่งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคต่างประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Dual Circulation ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ที่จะบังคับใช้ในปี 2564-2568
“จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2564 จะกลับมาเติบโตในกรอบร้อยละ 8.0 – 8.5 YoY โดยอาศัยแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยอาศัยกำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 400 ล้านคน และรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประสิทธิภาพและทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐยังคงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภค นอกจากนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ท่ามกลางการชะลอตัวในการลงทุนของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และความไม่แน่นอนของตลาดส่งออก”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นจากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ม.ค.2564 อาจจะทำให้มีการทบทวนนโยบายทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในยุคของทรัมป์อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี คงเป็นการยากที่ไบเดนจะทำการยกเลิกมาตรการทางด้านภาษีต่างๆ ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว เว้นแต่จะมีการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย แม้ว่าการที่จีนได้บรรลุข้อตกลงพหุภาคี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปในเดือนพฤศจิกายน 63 ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกกับการส่งออกของจีน แต่อาจจะยังไม่เห็นผลอย่างเป็นนัยสำคัญภายในปีนี้ เนื่องจากต้องรอให้รัฐบาลของชาติต่างๆ ให้สัตยาบันก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ (คาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังปี 64)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการบรรลุข้อตกลง RCEP จะช่วยให้เกิดสมดุลการค้าใหม่ของโลกและเกิดการคานอำนาจชาติตะวันตก และอาจจะทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ที่เหนียวแน่นในภูมิภาค ซึ่งจีนจะได้รับอานิสงค์เชิงบวกอย่างมาก โดยสามารถลดการพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังโลกตะวันตก และขยายการตลาดมาในภูมิภาคสมาชิกอย่างกว้างขวาง