HoonSmart.com>>วิกฤตการณ์ “โควิด-19” ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “คน” ต้องปรับตัวให้ทัน ธุรกิจจะต้องวิ่งล้ำนำหน้าความต้องการของตลาดอยู่เสมอ มิเช่นนั้นจะไม่มีพื้นที่ให้ยืน คาดว่าในปี 2564 จะเกิดการเทกโอเวอร์กิจการหลายดีล รวมถึงการจับมือทางธุรกิจกันมากมาย ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับตัวเช่นนี้ มักจะสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนสูงทีเดียว …
เปิดศักราชใหม่ปีฉลู เพียงสัปดาห์แรก เห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่ง อาทิ บริษัท เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น (MPG) กำลังปรับโฉมใหม่ หลังจากเจ้าของ “กิตติ์ยาใจ ตรีเอกวิจิตร ” ตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเกือบทั้งหมด 17% ให้กับนางสาวอัยดา ชินวัตน์ มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท เมื่อรวมพลังกับ “ทวีฉัตร จุฬางกูร” ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ นักลงทุนหวังได้ว่าธุรกิจจะพลิกฟื้นมีกำไรอย่างแน่นอน หนุนให้หุ้นดีดแรง ซิลลิ่ง 2 วันติด (7-8 ม.ค.64) กระโดดขึ้นปิดนิวไฮที่ 0.48 บาท แจกกำไรตั้งเกือบ 66%
เอ็มพีจีฯเดิมชื่อ”แมงป่อง” ผู้นำค้าปลีกสื่อบันเทิง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ป่องทรัพย์” มุ่งค้าปลีกเครื่องสำอาง ไลฟ์สไตล์ แต่ประสบปัญหาขาดทุนมานาน บริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C จากส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนเรียกชำระแล้ว เจ้าของเจรจาหาผู้ร่วมทุนมานานหลายปี ตกลงเรื่องราคาซื้อขายกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร้านค้าสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดกิจการชั่วคราว คงเหลือเพียงช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์เท่านั้น ในที่สุด ผู้ก่อตั้งบริษัทก็จะต้องขายหุ้นทั้งหมดออกไป และซื้อธุรกิจที่ทำอยู่ในค้าปลีกเครื่องสำอาง ไลฟ์สไตล์ด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนกลุ่มใหม่กวาดบ้านให้สะอาด ใส่ธุรกิจใหม่และมีเงินเพิ่มทุนรองรับไว้แล้ว
ขณะเดียวกัน ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด ยังทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเติบโตแบบก้าวกระโดด บริษัทไทยยูเนียน (TU) โดย “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มองเห็นโอกาสมานานแล้ว จะต้องขยายธุรกิจออกไป เพราะความยิ่งใหญ่ในธุรกิจอาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องระดับโลก จะเป็นเพียงเรื่องราวความสำเร็จในอดีตเท่านั้น ที่ผ่านมาได้ศึกษาหาข้อมูลเชิงลึก ถึงขนาดลงทุนซื้อหุ้น บริษัทอินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ที่มีจุดเด่นการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ก่อนที่จะขายหุ้นออกและนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน พัฒนาผลิตและจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพครบวงจรของคน ตั้งเป้ารายได้ถึง 2,000 ล้านบาทในปี 2567
ในอนาคตความร่วมมือทางธุรกิจ ไม่สนใจเรื่องขนาดของบริษัท หาก”มีของ” จะเป็นที่หมายปองของบริษัทยักษ์ใหญ่
TU มีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 6.6 หมื่นล้านบาทเห็นจุดเด่นของ IP มานาน แม้มีขนาดเล็ก มูลค่า 3,151.80 ล้านบาท แถมยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ด้วย เชื่อว่าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ จะสร้างการเติบโตให้ทั้งสองบริษัทมากทีเดียว ไม่แปลกใจที่ราคา IP หุ้นนวัตกรรมจะปรับขึ้นแรง เชื่อว่ายังมีโอกาสไปต่อ แม้ว่าจะเทรดที่ P/E สูงกว่า 50 เท่าแล้วก็ตาม
ในส่วนยักษ์ใหญ่ อย่างบริษัทปตท. (PTT) และบริษัทในกลุ่ม ประกาศกลยุทธ์ชัดเจนที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่แห่งอนาคต เพราะการอยู่ในธุรกิจพลังงานยากมากที่จะเติบโตเหมือนในอดีต จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทเพื่อลงทุนธุรกิจยาในต่างประเทศเมื่อปี 2563 พัฒนาศักยภาพความสามารถในด้าน Life science หรือวิทยาศาสตร์กายภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเป็นธุรกิจใหม่
ล่าสุดปตท.ประกาศลงทุน เพิ่มธุรกิจบริการระบบสารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต (Plublic Cloud)
บริษัทในกลุ่มปตท. ก็ได้ขยายธุรกิจใหม่ เห็นชัดเจน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) หนึ่งในผู้นำธุรกิจไฟฟ้า มุ่งลงทุนด้านนวตักรรมเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจ New S-Curve ประกาศความสำเร็จงานวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ พร้อมผลิตเซลล์แรกจากโรงงานในประเทศไทย กำลังการผลิตในระยะแรกอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง ภายในไตรมาสที่ 2/2564 นักลงทุนมั่นใจในคุณภาพ”แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” เพิ่มมูลค่าให้กับหุ้น GPSC ในอนาคตสูงมาก
การปรับตัวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ภาครัฐมีการปรับตัวให้ทันกับการก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกัน เห็นชัดเจนในนโยบายพลังงาน และภาคการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้างความเป็นธรรม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการยกเครื่องธุรกิจเช่าซื้อ และบัตรเครดิต เช่น ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงจากเดิม 18% เหลือ 16% และสินเชื่อส่วนบุคคล ลดจาก 28%เหลือ 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28%เหลือ 24% พร้อมดูแลถึงค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ และยึดรถจากลูกค้า ทำให้ธุรกิจลีสซิ่ง และบัตรเครดิตที่เคยมีรายได้จากดอกเบี้ยสูง ๆ ต้องปรับตัว ต่อยอดธุรกิจใหม่ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้หุ้นนันแบงก์ดีดตัวขึ้นแรงมากในสัปดาห์แรกของปีนี้
“บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) หันมาเพิ่มธุรกิจจำนำรถจักรยายนต์ เมื่อครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มรายได้ในปีนี้ ส่วนบริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เริ่มเก็บเกี่ยวการลงทุนด้านดิจิทัล “แพลทฟอร์มการชำระเงิน-แพลทฟอร์มสินเชื่อรายย่อย” และบริการ นาโนไฟแนนซ์-พิโกลัส-สินเชื่อพี่เบิ้ม (สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเงินสด) ยังไม่รวมถึงการเพิ่มโอกาสจากธุรกิจใหม่ๆ”
อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่จะลุยหุ้นนันแบงก์ ต้องระมัดระวังด้วย เนื่องจากธปท.มีนโยบายกำกับดูแลธุรกิจหลายเฟส แค่ยกแรก สั่งลดเพดานดอกเบี้ยก็กระทืบราคาหุ้นดำดิ่งซะลึก อย่ามัวแต่มองเห็นแต่โอกาส อย่าลืมปิดความเสี่ยงด้วย ในภาวะที่โลกธุรกิจและการลงทุนไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา