ความจริงความคิด : 10 เคล็ดลับการบริหารเงินต้อนรับปีใหม่ ตอนที่ 2


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
 
 
 
 
กลับจากเที่ยวปีใหม่กันแล้ว ก็เริ่มช่วงเวลาแห่งการทำงานกันแล้ว หลายๆ คนยังติดใจห้วงเวลาแห่งความสุข ไม่อยากทำงาน สู้ๆ เถอะครับ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปีนี้ที่ดูท่าทางจะไม่น่าสดใสเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องขยันมากขึ้น ปีนึงมี 12 เดือนเท่านั้น ถ้าเราขี้เกียจซัก 1 เดือน เท่ากับเราทำเวลาหายไปเกือบ 10% ของทั้งปีเลยนะครับ ดังนั้น อย่าประมาทใช้เวลาให้คุ้มค่านะครับ

ครั้งที่แล้วผมได้แนะนำ 4 เคล็ดลับการบริหารเงินเอาไว้ วันนี้เรามาต่ออีก 6 เคล็ดลับที่เหลือกันเลยครับ

5. ใช้ระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ

มีเงิน ให้ออมก่อน เหลือค่อยใช้ คือหลักการเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการออมเงิน วิธีหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การใช้ระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราใช้หักสำหรับการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ นั่นเอง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการจ่ายสำหรับเป็นเงินออมให้ตนเองได้ใช้ในอนาคต

ข้อแนะนำ: ติดต่อธนาคารที่เรามีบัญชีเงินฝากอยู่เพื่อขอใช้บริการ และควรกำหนดให้หักในช่วงเวลาที่เรามีเงิน เช่น ช่วงเงินเดือนออก และในจำนวนเงินที่เราสามารถออมได้ เพราะหากธนาคารหักไม่ได้ ก็จะยกเลิกการให้บริการ และควรศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียมในการหักบัญชีด้วย

6. ลงทุน
ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำแสนต่ำและคงต่ำไปอีกระยะหนึ่งตราบใดที่รัฐบาลยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากเราต้องการความมั่งคั่งในอนาคต เราก็จำเป็นต้องลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ระลึกไว้เสมอว่า “ผลตอบแทนที่สูงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน” ขนาดประเทศไหนจะเจริญแค่ไหน ก็จะดูงบประมาณด้านการลงทุนของประเทศนั้นๆ ทำนองเดียวกันกับชีวิตเรา ชีวิตเราจะมั่งคั่งมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีการลงทุนมากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปลงทุนดื้อๆ อย่างนั้นอาจเจ๊งได้ ก่อนลงทุนศึกษาหาความรู้ก่อนนะครับ

ข้อแนะนำ: ปรึกษาหรือเข้าดูเว็บสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และขอคำปรึกษาด้านการเงินก่อนการตัดสินใจลงทุน

7. หาผลประโยชน์สูงสุดจากงานที่ทำ
ไม่ใช่แนะนำให้เราโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของบริษัทหรือองค์กรที่เราทำอยู่นะ แต่แนะนำให้เราทำงานให้เต็มความสามารถและพัฒนาตัวเราตลอดเวลา เมื่อผลงานเราดี เราก็ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นโบนัส หรือการขึ้นเงินเดือน นอกจากนั้น การเข้าร่วมในสวัสดิการที่บริษัทให้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพกลุ่ม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ก็เป็นช่องทางที่เราสามารถหาประโยชน์ได้สูงสุดจากงานที่ทำ

ข้อแนะนำ: เพียงเราทำงานให้เก่งกว่า ทุ่มเทมากกว่า คนอื่นๆในบริษัทเพียง 5% เสมอ เราก็สามารถสร้างผลประโยชน์จากงานที่ทำได้มากกว่าคนอื่นๆหลายเปอร์เซนต์

8. ประเมินความพอเพียงของประกันที่เราทำ
เมื่ออายุเราเปลี่ยน สิ่งต่างๆก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ภาระความรับผิดชอบ ความมั่นคงของรายได้ ฯลฯ ประกันชีวิตที่เคยเหมาะสมสำหรับเราเมื่อสมัยวัยรุ่น ตอนนี้อาจไม่เหมาะแล้ว (ก็ช่วงวัยรุ่น สุขภาพก็ยังแข็งแรง ยังโสด ไม่มีภาระ ตอนนี้ก็แก่แล้ว สุขภาพก็ไม่ดี แถมยังมีลูกหลานต้องคอยดูแลอีก) เราจึงควรต้องบริหารความเสี่ยงของเราด้วยการทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับชีวิตเราที่เปลี่ยนไป

ข้อแนะนำ: ปรึกษาทีปรึกษาทางการเงินที่วางใจได้ หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองโทรหาบริษัทประกันชีวิตต่างๆ เปรียบเทียบหลายๆเจ้าก่อนซื้อ จะได้ประกันที่ดี ราคาถูกและเหมาะสมกับเราจริงๆ

9. ปรับปรุงพินัยกรรม
ขณะที่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราเองในอนาคต การทำพินัยกรรมจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่พวกเราเองส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครทำพินัยกรรมกัน และยิ่งตอนนี้มีเรื่องภาษีมรดกเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งต้องวางแผนให้ดี

ข้อแนะนำ: ปรึกษาสำนักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามสำนักงานเขตเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมที่สามารถมีผลทางกฎหมาย

10. ทำบัญชีทรัพย์สิน
ไม่เพียงพินัยกรรมที่เราต้องทำ การทำบัญชีทรัพย์สินของเราก็ต้องทำด้วยเหมือนกัน ไม่งั้นอาจเป็นเหมือนอย่างกรณีของคนที่บริจาคเตียงที่มีทรัพย์สินมูลค่าหลักล้านซ่อนอยู่ที่หัวเตียงให้พระพยอม วัดสวนแก้ว กว่าจะหาตัวทายาทเจ้าของเพื่อคืนทรัพย์สินได้ ทายาทก็เกือบไม่ได้ทรัพย์สินก้อนนั้นแล้ว นอกจากนี้การทำบัญชีทรัพย์สินจะช่วยให้เรารู้ว่าปัจจุบันเรามีความมั่งคั่งอยู่เท่าไหร่ มีภาระหนี้สินอย่างไรบ้าง

ข้อแนะนำ: ทำบัญชีทรัพย์สินเสมอ และบอกคู่ชีวิตหรือคนที่ไว้ใจว่าบัญชีดังกล่าวเก็บไว้ที่ไหน เพื่อว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ทั้งหมดนี้เป็น 10 เคล็ดลับด้านการเงินอย่างง่ายๆที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ในอนาคตครับ

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ…ขอบคุณครับ

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : 10 เคล็ดลับการบริหารเงินต้อนรับปีใหม่