โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เริ่มปีใหม่กันแล้ว หลายๆคนคงตั้งเป้าหมายในปีใหม่ว่า จะทำอะไร บางคนอาจตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายมากขึ้น จะตื่นเช้ามากขึ้น จะ…มากขึ้น ฯลฯ และเรื่องนึงที่คนมักตั้งใจมากขึ้น ก็คือ แม้ว่าเรื่องการบริหารเงินจะเป็นเรื่องที่จำเป็นที่พวกเราควรจะทำกันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเริ่มทำกันวันปีใหม่ เหมือนการรักแม่ พวกเราก็ควรรักและกตัญญูต่อแม่ทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเฉพาะวันแม่
แต่อย่างไรก็ตาม เป็นประเพณีของเราที่มักหาสิ่งที่ดีๆให้กับตนเองเมื่อปีใหม่มาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกปี 2558 นี้ไม่ง่าย การบริหารการเงินจึงต้องจริงจังมากขึ้นและทำด้วยความระมัดระวัง วันนี้ผมจึงขอแนะนำ 10 เคล็ดลับการบริหารเงิน เผื่อเอาไปเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี ครับ
1. จับจ่ายอย่างพอเพียงในสิ่งที่คุ้มค่า และ ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้
ฟังดูอาจง่าย แต่เชื่อมั๊ยครับ เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆคนไม่สามารถออมเงินได้มากตามที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่หลายๆที่มีโปรโมชั่น ส่งเสริมการขายมากมายจนเราอดใจไม่ไหวที่จะซื้อ พูดง่ายๆ ก็คือ แพ้ใจตัวเอง หรือ ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
ข้อแนะนำ: ท่องไว้เลยครับ “ไม่ใช้ ไม่ซื้อ” มีโปรโมชั่นยังไง ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ แต่ถ้าเงินอยู่ในกระเป๋าเยอะ ก็มักจะอดใจไม่ไหว ดังนั้นเมื่อมีรายได้ขอแนะนำรีบกันส่วนหนึ่งออมไว้ก่อนตามที่ตั้งใจในที่ๆถอนได้ยาก เช่น บัญชีกองทุน เงินฝากประจำ ประกันชีวิต ฯลฯ ที่เหลือค่อยไว้สำหรับใช้จ่าย วิธีนี้เราจะประหยัดรายจ่ายเองครับ
2. จัดทำงบประมาณ และยึดมั่นกับงบประมาณที่ทำไว้
งบประมาณไม่ใช่เรื่องของบริษัทเท่านั้น เป็นเรื่องของพวกเราด้วยเช่นกัน ในการทำงบประมาณ เราต้องประเมินว่ารายได้เราเป็นอย่างไร มั่นคงแค่ไหน ส่วนค่าใช้จ่าย ก็ดูว่าเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อันไหนจำเป็น อันไหนไม่จำเป็น ภาระหนี้เป็นยังไง มีการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนหรือไม่ ฯลฯ เราก็จะรู้ว่าในแต่ละเดือนเราจะมีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ ใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ขอให้เราปรับปรุงงบประมาณ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดภาระหนี้ที่ไม่มีประโยชน์ เพิ่มรายจ่ายเพื่อการลงทุน และยึดมั่นกับงบประมาณที่เราทำนั้น
ข้อแนะนำ: ทำงบประมาณเป็นลายลักษณ์อักษร และทำบนพื้นฐานของข้อมูลจริง และบนความสามารถที่เราจะทำได้ หลายคนตั้งงบประมาณแบบเกินความสามารถ สุดท้ายก็จะหยวนๆกับตัวเอง ทำให้เราเหยาะแหยะกับงบประมาณ ปัจจุบันมี application บนมือถือ tablet เกี่ยวกับการทำงบประมาณ บัญชีรายรับรายจ่ายมากมาย อย่างที่ผมใช้ตอนนี้ ก็คือ expense manager ก็ ok นะ ฟรีด้วย
3. อย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต
พยายามชำระหนี้บัตรเครดิตให้เต็มจำนวน และตรงเวลา การชำระหนี้ช้ากว่ากำหนดหรือจ่ายไม่เต็มจำนวน เราจะเสียค่าปรับ และต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แสนแพง อย่าไปเสียดอกเบี้ยหรือค่าปรับโดยไม่จำเป็น เราสามารถหาดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสินเชื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ ของสถาบันการเงินต่างๆได้ที่ https://www.bot.or.th/app/feerate/internal.aspx?PageNo=15
ข้อแนะนำ: เราอาจใช้การหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติสำหรับการชำระหนี้บัตรเครดิต และหนี้รายการสำคัญอื่นๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถฯลฯ เพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้
4. ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ
ลองถามตัวเอง 2 ข้อ
1.ถ้าตกงานจริงๆ เงินที่เก็บจะพอให้ใช้ได้กี่เดือน
2.แล้วถ้าต้องตกงานซัก 50 ปีหล่ะ เงินที่เก็บตอนนี้พอใช้มีย
การเกษียณก็เหมือนการตกงานนั่นแหละ แต่หนักกว่า คือ ตกงานหลายๆปี แล้วยิ่งอายุเรายืนยาวขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตวัยเกษียณก็ยาวนานขึ้น หากเราไม่วางแผนออมเงินเพื่อวัยเกษียณในวันนี้ เราอาจต้องพบกับปํญหาด้านการเงินในช่วงเกษียณได้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจไม่มีใครที่เราจะพึ่งพิงได้
ข้อแนะนำ: มีการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือกองทุน RMF ซึ่งนอกจากจะช่วยเราออมเงินแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีก รีบๆออมซะตั้งแต่วันนี้ อย่าประมาทคิดว่าอีกนานกว่าเกษียณ คนที่คิดแบบนั้น ตอนนี้นั่งกลุ้มใจไม่มีเงินใช้แล้ว
ขอพักที่ 4 เคล็ดลับด้านการเงินอย่างง่ายๆที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ในอนาคตก่อนนะครับ ครั้งหน้าค่อยมาต่ออีก 6 เคล็ดลับที่เหลือ
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ…ขอบคุณครับ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : 10 เคล็ดลับการบริหารเงินต้อนรับปีใหม่ ตอนที่ 2