สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ เผยต่างชาติยังคงแห่เงินลงทุนตราสารหนี้ไทยแม้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสหรัฐ เหตุความปลอดภัยสูง-คาดค่าเงินบาทแข็งค่าอีก ได้กำไรสองต่อ ชี้สภาพคล่องล้น-ภาครัฐลงทุนช้า กดดันดอกเบี้ยในประเทศไม่ขยับ เปิดช่องรายใหญ่ระดมเงินต้นทุนต่ำ
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มว่านักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ไทย จากช่วงไตรมาสแรกที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าในขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวจะต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแล้วก็ตาม เนื่องจากไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ และมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก
“ณ เดือนมี.ค.ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะ 10 ปีอยู่ที่ 2.56% เทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2.74% ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเพราะเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ไม่เกิน 1% เมื่อเทียบกับสหรัฐที่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 2% และยังได้กำไรจากค่าเงินจากเงินบาททั้งปีที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นด้วย และปีนี้เองเราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หากยังไม่มีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศ”นายธาดากล่าว
นายธาดา ยังกล่าวว่า ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบของประเทศไทยมีล้นเกิน เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่องหลายปี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐและการลงทุนเอกชนยังช้าอยู่มาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ขยับขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเอกชนไทยที่จะออกตราสารหนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า
“ตอนนี้เงินล้นประเทศ ทำให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยถูกมาก โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี มีดอกเบี้ยเพียง 3.4% เท่านั้น รัฐบาลจึงมีเงินเหลือล้นที่พร้อมจะลงทุน เพียงแต่ว่าด้วยปัจจัยของหน่วยงานราชการ ทำให้การลงทุนและการเบิกจ่ายลงช้าในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นช้ามาก ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปเร่ง การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในสเต็ปต่อไป”นายธาดากล่าว
นายธาดา กล่าวว่า สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาสแรกปีนี้ พบว่ามีมูลค่าคงค้างรวม 11.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปีที่แล้วที่มูลค่าคงค้างอยู่ที่ 11.56 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.8% ขณะที่ยอดซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเฉลี่ยอยู่ที่ 9.33 หมื่นล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้เงินทุนต่างชาติ (Fund Flows) ยังคงไหลเข้าประเทศไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังคงลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการซื้อสุทธิเพิ่มขึ้น 3.86 หมื่นล้านบาท เป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 5.25 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1.39 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ต่างชาติมีมูลค่าลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 8.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.4% ของมูลค่าตราสารหนี้ไทย
“ณ สิ้นปี 2560 นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ไทย 2.22 แสนล้านบาท และไตรมาสแรกนักลงทุนต่างชาติยังคงเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ไทย 3.86 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพบว่ามีความชันมากขึ้น โดยรุ่นอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับลดลง 2-13 bps ส่วนรุ่นอายุ 6-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 2-10 bps”นายธาดากล่าว
ในส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน มีการปรับตัวของตลาดก่อนเกณฑ์ใหม่การออกตั๋วBE และหุ้นกู้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ออกที่มีอันดับเครดิตสูงในกลุ่ม Real sector เร่งออกหุ้นกู้และเน้นขายให้นักลงทุน II/HNW ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มที่ออกตราสารหนี้ระยะยาวสูงสุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยอดการออกเพิ่มขึ้น 110% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการออกตราสารหนี้ระยะสั้นในภาพรวมยังมีการออกเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการออกจาก Real sector ลดลง 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ลดลงจากผู้ออกกลุ่ม Non-rated ซึ่งเน้นเสนอขายให้กลุ่มนักลงทุน II/HNW ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้นสูงสุด คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ มียอดการออกเพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่า ปีนี้จะมีภาคเอกชนจะมีการออกตราสารหนี้ 6-6.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการรีไฟแนนซ์ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะการรีไฟแนนซ์ในสัดส่วน 60% ของมูลค่าตราสารที่ครบกำหนด และการออกตราสารหนี้ของผู้กู้รายใหม่ อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่การออกตราสารหนี้ในปีนี้จะทุบสถิติปีที่แล้วที่มีการออก 8.3 แสนล้านบาทได้ หากนักลงทุนรายใหญ่ๆของประเทศมีการซื้อกิจการเข้ามา
“แม้ว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ไทยในภาพรวมจะไม่เพิ่มขึ้น แต่จะพบว่าผู้ออกตราสารหนี้รายใหญ่หรือที่มีเครดิตดีจะกู้เงินในอัตราที่ถูกลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับผู้ออกหุ้นกู้รายกลางและรายเล็กที่นักลงทุนมองว่ายังมีความเสี่ยงสูง จึงต้องบวกส่วนเผื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในลักษณะที่กระจุกตัว แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 4% ก็ตาม”นางสาวอริยากล่าว