โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
นับตั้งแต่โควิดเปิดตัวเข้ามาใช้ชีวิตท่ามกลางมนุษยชาติ สินทรัพย์ที่โดนกระหน่ำจนร่วงลงหนักสุดจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) นอกจากหุ้นของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากๆอย่างไทยแล้วก็คงหนีไม่พ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund & REITs)
ข่าวความสำเร็จของผลทดสอบวัคซีนป้องกันโควิดหลายตัวตลอดเดือนที่แล้ว หนุนสินทรัพย์กลุ่ม “ผู้แพ้ new normal” กลับมา outperform บวกแรงบนความหวังว่า ปีหน้าพอฉีดแล้วผู้คนจะได้ใช้ชีวิตแบบ “ปกติเก่า” กันมากขึ้น
ผู้ลงทุนชาวไทยคงยิ้มร่าใต้หน้ากากผ้า เพราะ LTF รวมถึงกองทุนหุ้นไทยอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่ลงทุนตามดัชนีหรือมีหุ้นขนาดใหญ่เยอะ ได้รับอานิสงส์ในยามเมื่อ fund flows พัดหวนเข้ามาในอาเซียน หลังจากห่างหายไปนานปี
ทำไม REITs ดูเหมือนยังไม่ค่อยเต็มใจขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา? ข่าววัคซีนส่งผลดีต่อความต้องการเช่าอสังหาฯและแนวโน้มการจ่ายเงินปันผล เป็นปัจจัยสนับสนุนมูลค่าสินทรัพย์กลุ่มนี้ในระยะยาวอยู่แล้ว ทว่าความคาดหวังเงินเฟ้อเร่งตัวตามมุมมองเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หนุนยีลด์พันธบัตรอายุยาว เช่น สหรัฐ 10 ปี +18 bps จากจุดต่ำสุดก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี “ยีลด์พุ่งแรง” เป็นตัวถ่วงหน่วงสินทรัพย์พวกที่เน้นรายได้ประจำ (income) ทำให้ราคาขึ้นยากในระยะสั้น
โอกาสลงทุนสุดปังบังเกิด! เมื่อปัจจัยลบระยะสั้นกดราคาสินทรัพย์บางอย่างปรับตัวลงสวนปัจจัยบวกระยะยาว
ความหวังวัคซีนโควิดหนุนมุมมองเศรษฐกิจในอนาคต ต่อจากนี้ไปเป็นการยาก ที่ยีลด์พันธบัตรจะร่วงลงแรงมากๆ เทรดเดอร์จึงขาดแรงจูงใจไม่อยากเข้าซื้อไล่ราคาบอนด์ แต่ยีลด์ก็ไม่น่าจะพุ่งขึ้นมากจากจุดนี้เช่นกัน เพราะมีธนาคารกลางคอยคุมไว้ด้วยท่าทีการดำเนินนโยบายสไตล์ yield curve control ทั้งที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ (เช่น BOJ) และสื่อสารแบบอ้อมๆ (เช่น Fed) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้รัฐบาลและเอกชน ซึ่งมีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากหลังวิกฤต
เส้นทางลงทุนสำหรับ #สายยีลด์ ผู้นิยม income แสวงหารายได้ประจำจากพอร์ต ดูเหมือนจะตีบแคบลงเรื่อยๆ
ตราสารหนี้เกรดสูงปัจจุบันยีลด์ต่ำมาก ระยะหลังสังเกตว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนระดับโลกพากันเพิ่มสัดส่วนตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุน (non-investment grade) เข้าพอร์ตมากกว่าเดิม เพราะยังพอหา spread ได้บ้าง
ตราสารผลตอบแทนสูง (high yield) ชักจะไม่สูงเหมือนชื่อ ยีลด์เฉลี่ยของ Bloomberg Barclays U.S. Corporate High Yield Index ร่วงกระแทก 4.45% (3 ธ.ค.) ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ credit spread ของหุ้นกู้แคบลงมาก รับข่าวดีวัคซีนตลอดจนแนวโน้มภาษีนิติบุคคลคงไม่โดนปรับขึ้นสักเท่าไรภายใต้ split congress สองขั้วการเมืองสหรัฐครองเสียงข้างมากพรรคละสภา
KT-GCINCOME ยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม yield spread แคบลงเรื่อยๆในตลาดบอนด์ ประกอบกับมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้น คงขับเคลื่อนเงินจำนวนไม่น้อยให้หันไปแสวงหายีลด์ที่สูงขึ้นในตลาดอื่น
Property Refresh เมื่อปัจจัยสำคัญๆเริ่มวกมาเข้าทางเสมือนดาวทุกดวงกำลังเรียงตัวอย่างสวยงาม เราจึง refresh อัพเกรดมุมมอง “อสังหาริมทรัพย์” (REITs, Property Funds, Infrastructure Funds) ขึ้นเป็น overweight (จากเดิม neutral) ใส่ให้เต็มสูบกันอีกครั้งหวังได้ทั้ง income และ capital gains กับ 2 กองทุนคู่หู KT-PIF และ KT-PROPERTY
กองทุนเปิดกรุงไทย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (KT-PIF) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานทั้งไทยและต่างประเทศ โดยลงทุนต่างประเทศ 52.28% ของ NAV ณ สิ้นเดือน ต.ค. หลักๆคือ REITs สิงคโปร์ ทั้งนี้ กองทุนได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar 5 ดาว (30 ต.ค. 63) มีให้เลือก 2 ชนิด “สะสมมูลค่า” (KT-PIF-A) และ “จ่ายเงินปันผล” (KT-PIF-D)
กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ (KT-PROPERTY) เน้นลงทุนใน Horizon Global Property Equities Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar 5 ดาว (31 ต.ค. 63) ขอบเขตการลงทุนกว้างขวางทั่วโลก (ตลาดพัฒนาแล้วเป็นหลัก) มุ่งแสวงหาการเติบโตของค่าเช่าและมูลค่าสินทรัพย์ในระยะยาว พอร์ตกองทุนหลักสิ้นเดือน ต.ค. ส่วนใหญ่ > 70% เป็น REITs และมีหุ้นอสังหาฯ 20 กว่าเปอร์เซนต์
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน