BBL จับมือ “ฮั่วเซ่งเฮง” เปิดเทรดทองออนไลน์สกุลเงินดอลลาร์

HoonSmart.com>> “ธนาคารกรุงเทพ” จับมือ “ฮั่วเซ่งเฮง” เปิดบริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านบัญชีเงินฝากตราต่างประเทศ คาดช่วยลดความผันผวนค่าเงินบาท มองแนวโน้มราคาทองสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนปี 64 คาดเคลื่อนไหวกรอบ 1,750-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้าน“นายเดชา ตุลานันท์” ประธานบอร์ดบริหาร BBL หวังรัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้น คาดปีหน้าฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หนี้เสียเพิ่มขึ้น ยันไม่ออกหุ้นกู้เพิ่ม เงินสำรองแกร่ง

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ลูกค้านักลงทุนสามารถลงทุนซื้อ-ขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. สามารถชำระค่าซื้อขายทองด้วยสกุลเงิน USD ผ่านบัญชีเงินฝากตราต่างประเทศ (FCD) ได้ โดยไม่ต้องแปลงสกุลเงิน จากที่ก่อนหน้าการซื้อขายทองคำในประเทศตามปกติต้องชำระเป็นสกุลเงินบาท ผ่านการตัดบัญชีบาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ค้าทองรายใหญ่ เริ่มสนใจและหันมาขยายบริการในตลาดกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพและฮั่วเซ่งเฮง มองเห็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าของทั้ง 2 กลุ่ม ภายใต้มาตรการดังกล่าว นำมาสู่การผนึกกำลังร่วมกันของทั้ง 2 ผู้นำ ใน 2 กลุ่มธุรกิจ เพื่อร่วมบุกเบิกบริการรูปแบบใหม่นี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์มบริการที่ชื่อว่า HUA SENG HENG USD GOLD TRADE หรือการลงทุนในรูปแบบการซื้อขายทองแท่ง 99.99 Gold Spot ด้วยสกุลเงิน USD ผ่านระบบออนไลน์ โดยอ้างอิงราคาทอง Live Gold Spot แบบ Real Time โดยซื้อขายขั้นต่ำ 1 ออนซ์ต่อครั้งต่อบัญชี และซื้อขายสูงสุด 100 ออนซ์ต่อครั้งต่อบัญชี ในช่วงเวลา 07.00-02.00 น.

“การซื้อขายแบบ Real Time เพื่อช่วยลดต้นทุนจากแรงกดดันและความผันผวนต่อค่าเงินบาท จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากไม่ต้องแปลงค่าเงินเป็นบาททุกครั้งที่มีการซื้อขาย สร้างความคุ้มค่าทำให้นักลงทุนได้มากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกมากยิ่งกว่าเดิม ด้วยการทำธุรกรรมแบบออนไลน์” นานชาญศักดิ์ กล่าว

ด้านนายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผยว่า จากการร่วมมือในครั้งนี้ ที่สามารถซื้อขายทองคำในสกุลเงิน USD คาดว่าจะลดความผันผวนของค่าเงินบาทได้จากการที่ไม่ได้เปลี่ยนเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง เพื่อร่วมกันให้บริการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มในอนาคต คาดว่าจะช่วยให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีบัญชีประเภท FCD ในไทย มาลงทุนทองคำเพิ่มมากขึ้น

ส่วนกรอบราคาทองคำในปี 64 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1,750-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือประมาณ 26,000 -28,000 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาทองในปีหน้ายังมีปัจจัยบวก จากการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี นายโจ ไบเดนที่กดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่มีปัจจัยลบเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ขณะที่สิ้นปีนี้คาดว่าราคาทองคำน่าเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือประมาณ 26,000 บาทต่อบาททองคำ

ด้านนายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารอยากให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ในการเปิดตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศที่มีการควบคุมโควิด-19 ได้ดี เพื่อเปิดโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมองว่ากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดว่าปี 64 ภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดอยู่

อย่างไรก็ตามแนวโน้มหนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) ของ BBL ในปี 64 มีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ยังไม่กลับมาดีขึ้น แต่ BBL จะไม่ขายหนี้ โดยจะเก็บมาบริหาร รวมถึงได้หาแนวทางในการช่วยเหลือลูกค้าไปแล้ว เพื่อให้ลูกค่ากลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติมากขึ้น

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพจะไม่มีการตั้งสำรองหนี้ NPLs เพิ่มเติมจากเดิม และไม่มีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพียงพอแล้ว ส่วนรายได้จากธุรกิจธนาคารที่ประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้จนถึงปี 64 เนื่องจากมีประชากรเป็นจำนวนมาก และมีกำลังซื้อ รวมถึงการลงทุนต่างๆ