คมนาคมตั้งเป้า 4 ปี อัดลงทุนเมกะโปรเจกต์อีก 1 ล้านล้าน

“อาคม” เผยในช่วง 4 ปีข้างหน้า กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 1 ล้านล้านบาท มั่นใจปี 2565 สร้างรถไฟฟ้าครบ 10 สาย พร้อมเร่งประมูลรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ต้นปีหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคม 4 ปี+อนาคต คนไทย ได้อะไร?” โดยระบุว่า ในช่วง 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2562-2565 กระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,164 กม. วงเงิน 4 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กิโลกเมตร ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน ,ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ,ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 4 เส้นทาง ได้แก่ สายนครปฐม-ชะอำ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย ,ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน และทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย

รวมทั้งขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,429 กิโลเมตร เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง ระยะทาง 3,085 กิโลเมตร การพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดนและภูมิภาคเพิ่มเติม 12 แห่ง และการก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 34 แห่ง

ส่วนโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโครงการการพัฒนาสนามบินภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินสกลนคร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ลำปาง แพร่ และหัวหิน

ขณะที่การลงทุนด้านคมนาคมทางน้ำ ได้แก่ โครงการการพัฒนาท่าเรือสงขลา โครงการพัฒนาท่าเรือบก จ.ขอนแก่น โครงการเปิดเส้นทางเดินเรือภูเก็ต-พังงา-กระบี่ โครงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่ 5 เส้นทาง ได้แก่ บางสะพาน-แหลมฉบัง, หัวหิน-พัทยา, สงขลา-แหลมฉบัง, สุราษฏร์ธานี-สัตหีบ, ปากน้ำปราณบุรี-สัตหีบ รวมถึงโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แห่ง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2558-2561 วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น นายอาคม ระบุว่า กระทรวงเร่งรัดผลักดันจนมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 21 โครงการ วงเงิน 1.09 ล้านล้านบาท

โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้านั้น มีโครงการรถไฟฟ้าที่ครม.อนุมัติและอยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นระยะทาง 349.8 กิโลเมตร จากเป้าหมาย 464 กิโลเมตร

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างประมูล ได้แก่ สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างเสนอครม. ได้แก่ สายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ สายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา,บางขุนนนท์-ศิริราช และรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าที่จะผลักดันเพิ่มเติม คือ สายสีน้ำเงินต่อขยาย ช่วงบางแค- พุทธมณฑลสาย 4

“รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายตามแผนแม่บท จะแล้วเสร็จในปี 2565”นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนการลงทุนทางรถไฟ กระทรวงยังเดินหน้าลงทุนระบบรางเพิ่มเป็น 8,150 กิโลเมตร จากเดิม 4,043 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นรถไฟทางคู่ 1,234 กิโลเมตร ส่วนการลงทุนโครงข่ายถนนที่เดิมมีมอเตอร์เวย์ 2 สาย และทางด่วน 8 สาย แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงได้เพิ่มมอเตอร์เวย์อีก 3 สาย เพิ่มทางด่วน 1 สาย พัฒนาทางหลวง เป็น 4 ช่องจราจร เพิ่มอีก 1,050 กิโลเมตร และเปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง 3,365 กิโลเมตร

นายอาคม กล่าวว่า ด้านการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน จะประมูลได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินการออกแบบรายละเอียดในปี 62 ซึ่งจะหารือกับญี่ปุ่นเพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีเอกชน 31 รายซื้อเอกสาร มีเวลาให้ยื่นข้อเสนออีก 4 เดือน จะคัดเลือกเสร็จในปลายปี 2561

ส่วนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการ PPP ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรรณภูมิเฟส 2 และสนามบินดอนเมือง อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผน และโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ซึ่งจะทยอยเสนอครม.ภายในปีนี้ เปิดประมูลต้นปี 2562 และเริ่มก่อสร้างกลางปี 2562