HoonSmart.com>>บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชื่อหุ้น CKP กระโดดได้ไกลกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ในไตรมาส 3 ของปี 2563 มีกำไรสุทธิถึง 831 ล้านบาท พลิกจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 94.86 ล้านบาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และทะยานขึ้นแรง 2,393% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33 ล้านบาท โดยบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายกำไรของปีนี้ หลังจากเห็นกำไรสุทธิรวม 397 ล้านบาทในงวด 9 เดือนสูงกว่าที่ประมาณการไว้ทั้งปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ หุ้น CKP ยังติดอันดับหุ้นยั่งยืน 1 ใน 124 บริษัท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่งประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 เป็นการเชิญชวนให้นักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น
กำไรของ บมจ. ซีเค พาวเวอร์ ที่ดีขึ้นมาก มาพร้อมกับความแข็งแกร่ง เพราะหัวใจของการทำธุรกิจไฟฟ้าใน 2 เรื่อง ต่างดีขึ้นพร้อมๆกัน คือ 1. ปริมาณน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นมาก จากปริมาณฝนที่ตกในช่วงหน้าฝน และ 2. ค่าใช้จ่ายทางการเงินก็ลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงประมาณ 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่สำคัญโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 มีปริมาณน้ำที่มากพอที่ทำการประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าในไตรมาสนี้ได้ดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมไปถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมาสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต และคาดว่ายังคงดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่งสามารถสร้างรายได้และกำไรให้บริษัทได้มากกว่าในครึ่งปีแรกของปี 2563
” โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3/2563 ถึง 4,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนประมาณ 40% ส่งผลให้ไตรมาส 3 เพียงไตรมาสเดียว มีรายได้ขายไฟถึง 4,483 ล้านบาท และสะสม 9 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้จากการขายไฟรวม 8,942 ล้านบาท โดยส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีสัดส่วนถึง 81% ของกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของ CKP หลังจากสามารถผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และดีต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายน แสดงให้เห็นถึงความสามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำในหน้าฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 2,386 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งสูงกว่าปริมาณน้ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 2,220 ล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณ 7.5% โดยมีปริมาณการขายไฟฟ้า 405.2 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น105.9 ล้านหน่วย หรือ 35.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าได้ 299.3 ล้านหน่วย
ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่ 1 (BIC-1) และ 2 (BIC-2) ยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ ไม่มีแผนที่จะหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ในปีนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน
ทางด้านแหล่งเงินทุน บริษัทกำลังดำเนินการออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท คาดเสนอขายในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง ได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “คงที่” และยังคงอันดับเครดิตองค์กร ที่ระดับ “A” แนวโน้ม “คงที่” สะท้อนผลงานเด่นด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และกระแสเงินสดรับตามคาดจากการขายไฟให้ กฟผ.
บริษัท ทริสเรทติ้งคาดในปีนี้บริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท ปีหน้าเพิ่มขึ้นกลับสู่ภาวะปกติประมาณ 4,500-5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 บริษัทฯ มี EBITDA งวด 9 เดือนประมาณ 2,700 ล้านบาทหรือ EBITDA Margin ที่ 47% และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.62 เท่า
บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพิ่มเติม และเจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมเพื่อซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้า BIC รวมถึงการลงทุนโครงการใหม่
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 มีมติอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 42% ในบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ (LPCL) มูลค่าประมาณ 13.23 ล้านบาท จาก บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว ซึ่งเป็นพันธมิตรในการร่วมพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภทฝายทดน้ำขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,460 เมกะวัตต์ (MW)
หากโครงการนี้สำเร็จจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ มากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ในฐานะผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สอดคล้องกับนโยบายลงทุนและเป้าหมายการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน