รัฐบาลเร่งตอกเสาเข็มรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ย้ำได้เห็นแน่ปีหน้า ขณะที่ WHA มั่นใจยอดขายปีนี้ได้ตามเป้า เล็งตั้งเป้าขายที่ดินปีหน้าเป็น 1,500 ไร่ หลังภาพรวมลงทุนอีอีซีของภาครัฐชัดเจน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในเดือนต.ค.นี้ รัฐบาลจะเปิดประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ 2 แสนล้านบาทในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสสาม โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมเครื่องบิน จะเปิดประมูลภายในปีนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทไปแล้ว และมีเอกชนทั้งในและต่างประเทศซื้อซองประมูลทั้งสิ้น 31 ราย ซึ่งในเดือนพ.ย.นี้ รัฐบาลจะประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก
“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเริ่มตอกเสาเข็มในปีหน้า โดย 2 โครงการนี้จะต้องไปพร้อมๆกัน และถือเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาอีอีซี”นายคณิศกล่าว
นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือสัตหีบ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยกองทัพเรือ และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ (ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือสัตหีบ) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้และเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีหน้า
นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก WHA ขายที่ดินได้แล้ว 600 ไร่ จากเป้าหมายทั้งปี 1,400 ไร่ แบ่งการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไทย 1,250 ไร่ และที่ดินนิคมฯที่เวียดนาม 150 ไร่ โดยมั่นใจว่าปีนี้การขายที่ดินจะเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนปีหน้าบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะกำหนดเป้าหมายการขายที่ดินเป็น 1,500 ไร่หรือไม่ เนื่องจากภาพรวมการลงทุนของภาครัฐในปีอีอีซีมีความชัดเจน
“เรากำลังพิจารณาปีนี้เป้าการขายที่ดินอาจจะไปถึง 1,500 ไร่ เนื่องจากภาพรวมการลงทุนของภาครัฐในพื้นที่อีอีซีมีความชัดเจน ซึ่ง WHA มีที่ดินที่พร้อมพัฒนาในมือกว่า 1.1 หมื่นไร่ ส่วนการปรับราคาที่ดินในนิคมฯนั้น เราจะปรับราคาปีต่อปี โดยต้นปีที่ผ่านมาเราปรับราคาขายเพิ่มขึ้นไปแล้ว 10%”นางจรีพรกล่าว
นางจรีพร ระบุว่า WHA เป็นเจ้าของนิคมฯตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี 9 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันที่มีนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด 20 แห่ง