HoonSmart.com>>’ศักดิ์สยามลิสซิ่ง’ พร้อมเข้าตลาดหุ้นปีนี้ ยกระดับสินเชื่อรายย่อยระดับชาติ ระดมเงินรุกธุรกิจ คาดหวัง 3 ปีโตเท่าตัว ทั้งสินเชื่อคงค้าง และขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,119 แห่ง ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพขับเคลื่อนธุรกิจ เผยกลุ่มลูกค้ามีคุณภาพ เอ็นพีแอลต่ำกว่าระบบ สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายพูนศักดิ์ บุญสาลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) เปิดเผยว่า บริษัทฯประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับภูมิภาค เริ่มต้นจากจังหวัด อุตรดิตถ์ และขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจมานานกว่า 25 ปี โดยให้บริการ 4 ประเภทคือ สินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน
ปัจจุบันมีความพร้อมที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น เพื่อระดมทุนมาขยายสินเชื่อและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่มีความสะดวกสบาย และเป็นธรรม ช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ
ก่อนที่จะทำธุรกิจนี้ บริษัทฯ มีจุดเริ่มต้นมาจากการรับบริหารจัดเก็บหนี้ ทำให้มีความเข้าใจลูกค้าและมองเห็นโอกาสการก้าวเข้าสู่ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบสัมมาชีพ โดยยึดหลักแนวคิด ‘การให้บริการอย่างเป็นธรรม เข้าใจและเข้าถึง’ ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และจริงใจ ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
” เรามีความเข้าใจในความต้องการสินเชื่อของประชาชนเป็นอย่างดี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ประสบปัญหา เงินขาดมือ ต้องการเงินหมุน ชาวบ้านไม่เบี้ยวหนี้ และพนักงานของบริษัทเป็นคนในพื้นที่ รู้จักลูกค้า การตลาดจึงเข้าถึงคนที่ต้องการสภาพคล่อง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นการบอกปากต่อปาก เรามีความแข็งแกร่งในด้านการให้บริการและจำนวนสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพร้อมขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ผู้ให้บริการสินเชื่อระดับชาติต่อไป” นายพูนศักดิ์ กล่าว
ด้านนายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อสร้าโอกาสการเติบโตและเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจ ที่ผ่านมาบริษัทเติบโตสองหลักมาตลอด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา( 2560-2562) รายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและบริการ โตเฉลี่ย 31.6% ต่อปี หลังจากเข้าตลาดคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อยปีละ 25 % แนวโน้มอีก 3 ข้างหน้า ยอดหนี้คงค้างและสาขาจะเติบโตเป็นเท่าตัว ณ วันที่ 30 มิ.ย.มีสาขา 519 แห่งเพิ่มเป็น 1,119 สาขาภายในปี 2566 เปิดอย่งน้อยปีละ 200 สาขา เป็นการขยายทั้งแนวลึกและแนวกว้าง ถึงกรุงเทพ และภาคกลาง
วันที่ 30 มิ.ย.2563 บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อรวม 6,067 ล้านบาท จากจำนวนสัญญาสินเชื่อรวม 230,273 สัญญา แบ่งเป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกัน 88% และลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน 120012% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
บริษัทจะมีเงินทุนในการขยายสินเชื่อ ชำระหนี้ และมีการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและบริหารหนี้ ปัจจุบันมี D/E 1.3 เท่า จะลดลงเหลือ 0.9 เท่าหลัง IPO ส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะลดสัดส่วนลง ในส่วนบริษัทบัวหลวงเวนเจอร์ ในกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ที่เข้ามาลงทุน เกือบ 10% ก็ยังคงลงทุนต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากว่า 2 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่มีความซื่อสัตย์ และไม่ชอบเป็นหนี้นาน ทำให้หนี้เสียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดิมอยู่ที่ 1.5-2% แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% เคยขึ้นไปสูงสุด 3.5% คาดว่าไตรมาส 3 ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นการบอกปากต่อปาก ถึงความมั่นใจ และการใช้พนักงานที่มีอยู่ในพื้นที่ มีความใกล้ชิดและทราบความต้องการของลูกค้า การขยายสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการสินเชื่อที่มีมาตรฐานและความเป็นธรรมได้ง่ายขึ้น รองรับความต้องการของสินเชื่อที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก