โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
“ติ๊ดชึ่ง” ศัพท์แสลงในกีฬามวย หมายถึงการที่นักมวยเต้นวนหนีคู่ต่อสู้ขณะรู้ตัวว่ามีคะแนนนำห่าง ไม่เสี่ยงเข้าคลุกวงใน แค่ดักจังหวะฉาบฉวยออกหมัดแย็บไปเรื่อยๆจนหมดยก คำนี้นิยมใช้ในการบรรยายเกมฟุตบอลด้วย เมื่อทีมยิงประตูนำห่างแล้วก็รักษาการครอบครองบอล ไม่เปิดเกมบุก แค่เคาะบอลไปมารอเสียงนกหวีดหมดเวลา ถ้าคู่ต่อสู้ซึ่งสกอร์ตามหลังอยู่โถมเข้าใส่หวังยิงประตูคืนจนเปิดช่องโหว่ ก็อาจเล่นเกมโต้กลับ (counter attack) บ้างเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น …แนวคิดดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับการลงทุนเช่นกัน
ยีลด์พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดใน 4 เดือน บน “ความหวัง” ว่าสภาคองเกรสจะบรรลุดีลแพคเกจเงินช่วยเหลือรอบใหม่ในไม่ช้าแม้ “ความจริง” การเจรจายังยืดเยื้อหาความคืบหน้าแบบเป็นรูปธรรมไม่ค่อยได้ โดยกลุ่มที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันเสียงข้างมากนำโดย Mitch McConnell มิได้ร่วมวงคุยกับประธานสภาผู้แทนฯ Nancy Pelosi จากพรรคเดโมแครต และรมว.คลัง Steven Mnuchin ซึ่งโทร.หากันทุกวันแต่อย่างใด
ยีลด์ฯ 10 ปีขยับขึ้นไม่รุนแรงมากแค่ +16 bps ในเดือนนี้ แต่การพุ่งทะยาน 6 วันทำการติดต่อกัน (15-22 ต.ค.) ก่อนปิดวันศุกร์ 0.84% ใกล้จุดสูงสุดเดือน มิ.ย. กระตุ้นให้นักวิเคราะห์บางรายเริ่มฝันถึง 1% อีกแล้ว เหมือนไม่เคยได้บทเรียนว่า “ยีลด์มันขึ้นมากไม่ได้” เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอฟื้นช้า หนี้สินรัฐบาลและเอกชนสูงลิ่ว มีปัญญาจ่ายดอกเบี้ยไม่สูงกว่า 0% สักเท่าไหร่หรอก! แต่ถ้ายีลด์กล้าขึ้นไปจริงๆก็คงยืนได้ประเดี๋ยวเดียว เพราะเฟดจะโถมเข้ามากดยีลด์ลงโดยอัด QE เพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตรอายุยาว และพูดรัวๆเรื่อง yield curve control ไม่เห็นยากเย็นอะไรเลย
กูรูเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยคาดว่า ชัยชนะซึ่งมีความเป็นไปได้มากของ โจ ไบเดน กับพลพรรคเดโมแครตทั้งสภาบน-ล่าง “Blue Wave” จะเปิดศักราชมาตรการกระตุ้นจัดหนักเว่อร์วังอลังการงานสร้างเสียยิ่งกว่าในสมัยของทรัมป์จนอาจนำไปสู่ภาวะ “เงินเฟ้อสูง” อย่างไรก็ตาม ผลประมูลพันธบัตรสหรัฐอายุ 20 ปี $22,000 ล้านช่วงกลางสัปดาห์ สะท้อนดีมานด์แกร่ง “ความคาดหวังเงินเฟ้อ” กลับตัวลงจากจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ตลาดบอนด์กำลังส่งสัญญาณ “เบรก” แนวคิดดังกล่าว ย้ำเตือนให้ตระหนักว่า เงินเฟ้อยังคงเป็น rare item “ของหายาก” ในยุค new normal
ไม่ฝืด…ไม่เฟ้อมาก…แค่ต่ำ สมมุติฐานระยะยาวเกี่ยวกับปัจจัยมหภาค ซึ่งเราใช้กำหนดกลยุทธ์ในปัจจุบันคือ Disinflation “เงินเฟ้อต่ำ” เนื่องจากมาตรการกระตุ้นคลังขนาดมหึมา ตลอดจนกรอบนโยบายการเงินแนวใหม่ที่มุ่งดันเงินเฟ้อขึ้นเช่น Average Inflation Targeting ต้องต่อสู้กับ “ปัจจัยเงินฝืดเชิงโครงสร้าง” อาทิ ประชากรอายุเฉลี่ยสูงขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้าลดต้นทุนการผลิต e-commerce กดราคาสินค้าลง disruptions ทำให้คนว่างงานมากขึ้น ฯลฯ
ตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นในระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว เงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำ นโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินการคลังยังต้องจัดเต็ม Disinflation เปรียบเสมือนเพลงนุ่มๆสไตล์ Bossa เปิดคลอๆหล่อเลี้ยงปาร์ตี้กระทิงให้เต้นต่อไปเรื่อยๆ หุ้นกลุ่มที่เฉิดฉายในงานนี้ควรมี “ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตระยะยาว” (long-term growth drivers) แม้ราคาสูงก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะดอกเบี้ยน่าจะต่ำไปอีกนานแสนนาน
โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งปธน.สหรัฐ ไม่ว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติแพคเกจกระตุ้นทันเวลาหรือไม่ ความผันผวนจาก “อีเวนท์ใหญ่” 3 พ.ย. ก็ยังคงอยู่ ตลาดอาจจะสวิงขึ้นหรือลงได้ทั้ง 2 ทางในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้หรือมากกว่านั้นหากมีการโต้แย้งผลนับคะแนน ราคาจึงยังไม่น่าจะเลือกเดินทางใดได้ไกลๆ ถ้าขึ้นเยอะก็คงโดนเทขายทำกำไร แต่พอตลาดพักตัวย่อลง แรงซื้อกลับเพื่อลุ้น upside ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้หุ้นรีบาวด์กลับขึ้นมา กระเด้งกระดอนเป็นลูกปิงปองไปจนถึงเลือกตั้ง กลยุทธ์ “ลงซื้อ-ขึ้นขาย” จึงน่าจะเวิร์คสำหรับ #สายเล่นสั้น ทว่ากองทุนรวมมีระยะเวลารอหน่วยฯ ดังนั้น การสับเปลี่ยนถี่ๆหรือซื้อขายรวดเดียวทั้งพอร์ต จึงไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงที่จะเสียจังหวะ
กิจกรรมเก็งกำไรในตลาดคงหนาแน่น เปิดช่องลงทุนดีๆหากความผันผวนสูงขึ้นกดราคาย่อลงมา แต่จะเข้าไปช้อนซื้อได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพคล่องเพียงพอ ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูง การเล่น “ติ๊ดชึ่ง” จัดสัดส่วนพอร์ต 60:40 น่าจะเหมาะสม โดย 60% เป็นกองทุนหุ้นเน้น 4 แนวรุกหลัก KT-Ashares, KT-WTAI, KT-CHINA, KT-EURO ส่วนอีก 40% พักไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นสภาพคล่องสูงเช่น KTSTPLUS เปรียบเสมือนการโหลดกระสุนเตรียมยิง
ช่วงนี้มี IPO 4 กองทุนผสม มั่ง มี ศรี สุข เพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนได้ตามเงื่อนไข RMF โดยไม่ต้องเล็งจังหวะตลาด
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน