HoonSmart.com>> กองทุนบัวหลวง เสนอขาย IPO “กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีนเอแชร์เพื่อการเลี้ยงชีพ” ระหว่าง 28 ต.ค.– 3 พ.ย.63 ทางเลือกคว้าโอกาสจากการลงทุนในหุ้นทั้งแผ่นดินจีน แนวโน้มให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในระยะยาว ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจจีนกำลังจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การลงทุนในหุ้นจีนโอกาสขยายตัวได้อีก กลุ่มธุรกิจน่าสนใจให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะ “เทคโนโลยีและการบริโภค” พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้นแผ่นดินจีน หรือ A-Shares เป็นทางเลือกที่ควรมีไว้เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุนระยะยาว หากผู้ลงทุนกำลังมองหาโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าพอใจ เนื่องจากหุ้นจีน A-Shares ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ในไม่ช้า และมีธุรกิจอีกหลายกลุ่มน่าสนใจลงทุน เช่น สุขภาพ เทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม อันจะได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ชาติจีน และตลาดหุ้นจีนเองก็จะมีบทบาทในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
ขณะที่ กองทุนบัวหลวง เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาวกับหุ้นจีน A-Shares ซึ่งได้แก่ หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเซินเจิ้น พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ด้วย ด้วยการเสนอขาย กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีนเอแชร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-CHINAARMF) ให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)ระหว่างวันที่ 28 ต.ค. – 3 พ.ย.นี้ ราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท มูลค่าการซื้อขั้นต่ำ 500 บาท ซึ่งถือเป็นบริษัทจัดการแรกในอุตสาหกรรมที่นำเสนอกองทุนหุ้นจีน A-Shares ในกลุ่มกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
“ในการวางแผนลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนควรจัดสรรสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation โดยการกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ ซึ่งก็สามารถใช้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายแตกต่างกันเป็นเครื่องมือในการจัดสรรสินทรัพย์ได้ โดยกองทุนบัวหลวงมีกองทุน RMF ให้เลือกหลากหลายครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ และเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่ผู้ลงทุนไว้วางใจให้บริหารเงินลงทุนใน RMF มากที่สุดในอุตสาหกรรม หรือ 73,520 ล้านบาท จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563” นายวศิน กล่าว
นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กองทุนบัวหลวง กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 MSCI ได้เริ่มนำหุ้นขนาดใหญ่ของจีนที่อยู่ในตลาด A-Shares เข้ารวมคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Market Index ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีสัดส่วนเพียง 0.73% ของดัชนี และในปีนี้ แม้ MSCI จะยังไม่มีการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีน A-Shares ก็ตาม แต่เมื่อดูจากมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ควรมีน้ำหนักมากกว่านี้ กล่าวคือที่ประมาณ 16-18% ดังนั้นจากนี้ไปหากมีการพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าไปลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น
“ตลาดยังให้ความสำคัญกับหุ้นจีนน้อย เมื่อเทียบกับอิทธิพลของจีนในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น ในเชิงขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าการค้า สัดส่วนเงินหยวนในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มูลค่าการบริโภค ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้น และบทบาทของหุ้น A-Sharesในตลาดหุ้นจีนเทียบกับโลกก็ยังน้อยอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ในการเติบโตอีกมาก หากต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าพอใจ ตลาดหุ้นจีนก็เป็นทางเลือกที่ดี อีกทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นจีนยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตหุ้นโดยรวมได้ด้วย เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นอื่นๆ น้อยมาก” นายสันติ กล่าว
สำหรับ B-CHINAARMF เป็นกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพกองแรกในอุตสาหกรรมที่เน้นลงทุนหุ้น A-Shares โดยเฉพาะ กองทุนนี้เป็น Feeder Fund จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลัก คือ Allianz China A Shares เพียงกองทุนเดียว เฉลี่ยในรอบปีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุนในบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตภายในประเทศจีน อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม การบริโภคและผลิตภัณฑ์ เพื่อไปสู่เศรษฐกิจจีนยุคใหม่
ส่วนสาเหตุที่กองทุนบัวหลวงเลือกกองทุน Allianz China A Shares เป็นกองทุนหลัก เนื่องจากมีกระบวนการลงทุนที่สอดคล้องกับกองทุนบัวหลวง และมีทีมงานวิจัยภาคสนาม รวมไปถึงประเมินด้านESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) และบริหารความเสี่ยงพอร์ตลงทุนอย่างเหมาะสม ขณะที่ผู้จัดการกองทุนมีความเชี่ยวชาญในการบริหารหุ้นจีนเป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา สามารถทำผลตอบแทนในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งชนะตลาดได้ 8.9% ต่อปี
ทั้งนี้ การลงทุนใน RMF ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อนับรวมกับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปีลงทุน (ห้ามระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันทั้งที่ยังมีเงินได้)
นอกจากนี้ ต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีบริบูรณ์ นับจากวันที่ซื้อครั้งแรกและต้องถือหน่วยลงทุน จนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gains)